สธ. ให้โรงพยาบาลเสี่ยงภัยแล้ง เตรียมแผนสำรองน้ำบริการประชาชน

กระทรวงสาธารณสุข ให้โรงพยาบาลพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ เตรียมแผนการใช้น้ำและ และหาแหล่งน้ำสำรองให้เพียงพอ ประสานหน่วยงานในพื้นที่ขุดเจาะน้ำบาดาล ไม่กระทบบริการประชาชน

นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใยสถานการณ์ภัยแล้ง ที่เกิดขึ้น ได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและโรงพยาบาลในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคจากการสำรวจเมื่อปลายเดือนมกราคม 2563 ใน 54 จังหวัด รวม 699 แห่ง ประกอบด้วย โรงพยาบาลศูนย์ 25 แห่ง โรงพยาบาลทั่วไป 58 แห่ง และโรงพยาบาลชุมชน 616 แห่ง เตรียมความพร้อมเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์   ตรวจสอบระบบการจ่ายน้ำ ถังพักน้ำ และระบบสำรองน้ำให้พร้อมใช้ 3 วัน ลดปริมาณการใช้น้ำประปาที่ไม่จำเป็น จัดทำระบบรีไซเคิลน้ำ รวมทั้งประสานหน่วยงานในท้องถิ่น อาทิ องค์การบริหารส่วนตำบล  เทศบาล การประปาในพื้นที่ ฝ่ายความมั่นคง ในการจัดหาแหล่งน้ำสำรอง หรือขุดเจาะบ่อบาดาล และตรวจคุณภาพน้ำก่อนนำไปใช้ ในช่วงภัยแล้งให้ประกาศมาตรการประหยัดน้ำ ขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่และผู้รับบริการช่วยกันประหยัดน้ำ เพื่อให้มีน้ำเพียงพอ ไม่กระทบต่อการให้บริการให้สถานพยาบาล เช่น โรงพยาบาลสุรินทร์ ในปีที่ผ่านมาขาดแคลนน้ำจากภัยแล้ง ได้ขุดเจาะบ่อบาดาล 8 บ่อ ผลิตน้ำได้วันละ 800,000 ลิตร  – 1 ล้านลิตรต่อวัน เพียงพอต่อการให้บริการประชาชน อย่างไรก็ตาม ได้เตรียมความพร้อมรับมือภัยแล้งปีนี้ไว้แล้ว

นอกจากนี้ ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนเพิ่มความระมัดระวังในเรื่องความสะอาดของอาหาร น้าดื่ม ภาชนะใส่อาหาร การใช้ส้วมที่สะอาดถูกสุขลักษณะ เฝ้าระวังโรคติดต่อที่พบบ่อยในช่วงภัยแล้ง เช่น โรคอุจจาระร่วง โรคอาหารเป็นพิษ โรคพิษสุนัขบ้า ตรวจความสะอาดของตลาดสด ร้านอาหารต่างๆ จัดทีมสอบสวนเคลื่อนที่เร็วสอบสวนควบคุมโรคในพื้นที่ เตรียมพร้อมให้การช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัย ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และพิจารณาจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่บรรเทาทุกข์ออกให้บริการรักษาพยาบาล

…………………