สถาบันฯ นานาชาติเชียงแสน จ.เชียงราย ปั้นแรงงานคุณภาพโลจิสติกส์ ผลิต “ครูต้นแบบ”ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย จัดฝึกอบรม 6 สาขา 120 คน เน้นความหลากหลายทักษะอาชีพตามความต้องการ เผยสถาบันฯ พร้อมทุกด้านฝึกอบรมอาชีพเสริมการบริหารจัดการ โลจิสติกส์ และครูต้นแบบปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

นางสาวสุขศรี ไล่กสิกรรม ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานนานาชาติเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า สถาบันฯ จัดฝึกอบรมหลายสาขา จำนวนทั้งสิ้น 120 คน ในระหว่างวันที่ 24 – 28 กุมภาพันธ์ 2563 จำนวน 6 สาขา ได้แก่ สาขาการออกแบบผลิตภัณฑ์จากงานปักผ้า สาขาเทคนิคการขับรถยกสินค้าอย่างปลอดภัยระดับสูง สาขาเทคนิคการวางแผนและบริหารงานขนส่งสินค้าทางถนนระดับพื้นฐาน สาขาการบริหารงานอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมยุคใหม่ สาขาเทคนิคการซ่อมเครื่องยนต์เล็กเพื่อการเกษตร และสาขาการผลิตปุ๋ยและสารกำจัดแมลงชีวภาพ โดยกลุ่มผู้เข้าฝึกอบรมในครั้งนี้มีทั้งชาวต่างชาติและคนไทยให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก การจัดฝึกอบรมครั้งนี้ สถาบันฯ มีความพร้อมทุกด้าน ทั้งบุคลากร หลักสูตร วิทยากรผู้เชี่ยวชาญ อาคารสถานที่ หอพัก ครุภัณฑ์การฝึก การบริการที่ดีเยี่ยมสร้างความประทับใจให้กับผู้เข้าฝึกอบรมทุกรุ่นที่ผ่านมา และที่สำคัญที่สุดคือ การประสานงานและการวางแผน ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินงาน ซึ่งจะต้องมีความแม่นยำและชัดเจน จึงจะสามารถดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ได้

น.ส.สุขศรีฯ กล่าวต่อว่า สาขาการออกแบบผลิตภัณฑ์จากงานปักผ้าได้เปิดครั้งนี้เป็นรุ่นที่ 2 เนื่องจากเป็นความต้องการของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ ผลงานสามารถสร้างรายได้ให้กับสมาชิกกลุ่มอย่างต่อเนื่อง ส่วนสาขาเทคนิคการขับรถยกสินค้าอย่างปลอดภัยระดับสูง และสาขาเทคนิคการวางแผนและบริหารงานขนส่งสินค้าทางถนนระดับพื้นฐาน เป็นการฝึกทักษะด้านโลจิสติกส์ซึ่งเป็นจุดเน้นของสถาบันฯ โดยครั้งนี้ คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ม.ราชภัฏอุตรดิตถ์ นำนักศึกษาปริญาตรีชั้นปีสุดท้าย จำนวน 52 คน เข้าฝึกอบรม

โดยเป็นการดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ระหว่าง 2 หน่วยงานด้านสาขาการบริหารงานอาชีวศึกษาและการฝึกอบรมยุคใหม่ สาขาเทคนิคการซ่อมเครื่องยนต์เล็กเพื่อการเกษตร และสาขาการผลิตปุ๋ยและสารกำจัดแมลงชีวภาพ

น.ส.สุขศรีฯ ยังกล่าวอีกว่า กลุ่มผู้เข้าฝึกอบรมเป็นบุคลากรภาครัฐและเอกชนจาก สปป.ลาว รวมทั้งสิ้นจำนวน 60 คน ซึ่งในปี 2563 สปป.ลาว ยังมีความต้องการพัฒนาบุคลากร และให้ความสนใจการฝึกอบรมในด้าน การบริหารจัดการ การท่องเที่ยวบริการ และการเกษตรยุคใหม่ ซึ่งความต้องการดังกล่าว สอดคล้องกับนโยบายและจุดเน้นของสถาบันฯ แห่งนี้ โดยสาขาเทคนิคการซ่อมเครื่องยนต์เล็กเพื่อการเกษตร และสาขาการผลิตปุ๋ยและสารกำจัดแมลงชีวภาพ เป็นสาขาพิเศษที่ทางสถาบันฯจัดขึ้น เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ของในหลวงรัชกาลที่ 10 โดยดำเนินการสร้าง “ครูต้นแบบ” ด้านปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ให้กับกลุ่มประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง GMS ให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตของตนเองและกลับไปถ่ายทอดสู่คนในหน่วยงานของตนได้ ซึ่งหลักสูตรครูต้นแบบ นอกจากสาขาเทคนิคการซ่อมเครื่องยนต์เล็กเพื่อการเกษตร และสาขาการผลิตปุ๋ยและสารกำจัดแมลงชีวภาพแล้ว ยังมีอีก 2 สาขาที่ต้องเรียนรู้ ได้แก่ สาขาการสร้างโรงเรือนอเนกประสงค์ และสาขาการประยุกต์ใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร

ซึ่งหลักสูตร ครูต้นแบบ ทั้ง 4 สาขา จะครอบคลุมงานภาคเกษตรที่ต้องทำ โดยเริ่มตั้งแต่การสร้างโรงเรือน การบริหารจัดการ การประยุกต์ใช้ และการซ่อมบำรุง ซึ่งสามารถตอบโจทย์การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ได้เป็นอย่างดี เป็นการสืบสาน รักษา และต่อยอด สู่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเข้าใจและถูกต้อง