ขีดเส้นใต้ นายจ้าง ยื่น Name list และตรวจสุขภาพแรงงาน ก่อนปิดจ๊อบต่ออายุต่างด้าว

กระทรวงแรงงาน เร่ง นายจ้าง/สถานประกอบการ ที่มีแรงงานต่างด้าวต้องต่ออายุใบอนุญาตทำงานและขออยู่ต่อในราชอาณาจักร รีบยื่น Name list ในระบบ และพาแรงงานไปตรวจสุขภาพ ที่สถานพยาบาลของรัฐและเอกชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ย้ำ พร้อมให้บริการแล้ว

นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน เผย หม่อมราชวงศ์ จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กำชับให้กรมการจัดหางาน เร่งรัดประชาสัมพันธ์ให้นายจ้าง ที่ต้องพาแรงงานต่างด้าวไปขออนุญาตทำงานและขออยู่ต่อในราชอาณาจักร ว่า ขณะนี้ ใกล้สิ้นสุดระยะเวลา การเปิดต่ออายุใบอนุญาตทำงานของ แรงงานต่างด้าวแล้ว จึงขอเตือนให้ นายจ้าง/สถานประกอบการ รีบดำเนินการ ยื่นบัญชีรายชื่อคนต่างด้าว (Name List) ในระบบ e-workpermit.doe.go.th และรีบพาแรงงานไปตรวจสุขภาพ ให้แล้วเสร็จ ซึ่งได้รับแจ้งเพิ่มเติมจากกระทรวงสาธารณสุข ว่าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีสถานพยาบาลของรัฐ พร้อมให้บริการตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าวเพื่อขอใบอนุญาตทำงาน จำนวน 12 แห่ง ได้แก่

1.โรงพยาบาลราชวิถี ให้บริการตรวจวันจันทร์ – ศุกร์ จำนวน 1,200 คนต่อวัน วันเสาร์ – อาทิตย์ จำนวน 3,000 คนต่อวัน 2.โรงพยาบาลเลิดสิน ให้บริการตรวจวันจันทร์ – ศุกร์ จำนวน 1,600 คนต่อวัน วันเสาร์ จำนวน 1,600 คนต่อวัน 3.โรงพยาบาลนพรัตน์ฯ ให้บริการตรวจวันจันทร์ – ศุกร์ จำนวน 400 คนต่อวัน วันอาทิตย์ จำนวน 1,000 คนต่อวัน 4.โรงพยาบาลวชิรพยาบาล ให้บริการตรวจวันอาทิตย์ จำนวน 1,500 คนต่อวัน 5.โรงพยาบาลกลาง ให้บริการตรวจวันจันทร์ – ศุกร์ จำนวน 1,200 คนต่อวัน 6.โรงพยาบาลเจริญกรุงฯ ให้บริการตรวจวันจันทร์ – ศุกร์ จำนวน 80 คนต่อวัน วันอาทิตย์ จำนวน 1,000 คนต่อวัน 7.โรงพยาบาลตากสิน ให้บริการตรวจวันจันทร์ – ศุกร์ จำนวน 1,000 คนต่อวัน 8.โรงพยาบาลเวชการุณยรัศมิ์ให้บริการตรวจวันจันทร์ – ศุกร์ จำนวน 650 คนต่อวัน 9.โรงพยาบาลลาดกระบัง ให้บริการตรวจวันจันทร์ – ศุกร์ จำนวน 30 คนต่อวัน วันหยุดราชการ จำนวน 600-700 คน 10.โรงพยาบาลสิรินธร ให้บริการตรวจวันจันทร์ – ศุกร์ จำนวน 150 คนต่อวัน 11.โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ ให้บริการตรวจทุกวัน วันละ 2,000 คน และ12.โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินธโร อุทิศ ให้บริการตรวจวันเสาร์-อาทิตย์ จำนวนวันละ 700 คน

สำหรับแรงงานต่างด้าวที่ทำงานกับสถานประกอบการที่อยู่ในระบบประกันสังคม และแรงงานต่างด้าวนั้น เป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมแล้ว สามารถตรวจสุขภาพได้ที่ สถานพยาบาลเอกชนทุกแห่งที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล และรับบริการตรวจสุขภาพคนต่างด้าวเพื่อประกอบการขอรับใบอนุญาตทำงาน ทั้งนี้ เพื่อความชัดเจน สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของสถานพยาบาลก่อนเข้ารับบริการ

“ สถานพยาบาลของรัฐและเอกชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครแต่ละแห่งยังสามารถรองรับการให้บริการตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าวเพื่อขอใบอนุญาตทำงานได้อีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งในภาพรวมกรุงเทพมหานคร ได้รับแจ้งว่าออกใบรับรองแพทย์แล้ว จำนวน 79,854 คน ดังนั้นจึงขอย้ำให้เร่งดำเนินการตามกำหนดเวลาดังกล่าว อย่ารีรอจนถึงวันสุดท้าย เพราะอาจไม่ทันเวลา ทั้งยังอาจไม่ได้รับความสะดวก เนื่องจากยิ่งใกล้วันปิดรับ จะมีนายจ้างและแรงงานต่างด้าวมาใช้บริการจำนวนมาก ” นายสุชาติฯ กล่าว

อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวต่อว่า หากพ้นกำหนด แรงงานต่างด้าวจะไม่สามารถอยู่และทำงานต่อไปได้ และกรมการจัดหางานจะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบ และดำเนินคดีตามกฎหมาย หากพบคนต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ จะมีโทษปรับ 5,000 – 50,000 บาท และเมื่อชำระค่าปรับแล้ว คนต่างด้าวจะถูกส่งกลับออกไปนอกราชอาณาจักร ขณะเดียวกันนายจ้างที่จ้างคนต่างด้าวโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ จะมีโทษปรับ 10,000-100,000 บาทต่อคนต่างด้าว ที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำต้องมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี