กรมประมง…ชี้ พิษ “โควิด-19” ป่วน!! กระทบธุรกิจประมงไทย แนะเกษตรกรควรปรับตัวเพื่อหาทางรอด จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง  ไม่เว้นแต่ภาคธุรกิจประมง   ล่าสุด…โฆษกกรมประมง แจงตัวเลขคาดการณ์ผลกระทบต่อสินค้าประมงไทย อาจทำให้สูญเสียรายรวมกว่า 604.5 – 1,179 ล้านบาท  เหตุจากปัจจัยที่นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง และการส่งออกในตลาดตลาดหลักเริ่มชะลอตัว

นายบรรจง จำนงศิตธรรม รองอธิบดีกรมประมง ในฐานะโฆษกกรมประมง เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือ โรคโควิด-19 ที่แพร่ระบาดอย่างหนักในประเทศจีนและขยายวงกว้างไปอีกหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยนั้น ได้ส่งผลกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจการค้าโลก รวมถึงธุรกิจภาคการประมงด้วย ซึ่งหลังจากที่เกิดโรคโควิด-19 เมื่อช่วงปลายเดือนมกราคม 2563 เป็นต้นมา ทำให้การส่งออกสินค้าสัตว์น้ำของไทยไปยังประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดหลัก รองจากสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่นเกิดการชะลอตัว เนื่องจากมีความยากลำบากในการขนส่งมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้ากุ้งทั้งแบบมีชีวิตและกุ้งสดแช่เย็น

ที่ต้องการความรวดเร็วในการขนส่ง และต้องใช้บริการการขนส่งทางอากาศเท่านั้น ซึ่งผลจากการประกาศยกเลิก หรือ ปรับลดเที่ยวบินได้ส่งผลกระทบทำให้สินค้ากุ้งที่เคยส่งออกมีปริมาณลดน้อยลงกว่าในช่วงสภาวะปกติอย่างมาก ซึ่งจากข้อมูลสถิติของกรมประมงในปี 2562 พบว่าตัวเลขการส่งออกกุ้งมีชีวิตและกุ้งสดแช่เย็น

(กุ้งขาวแวนนาไมและกุ้งกุลาดำ) ไปจีนมีปริมาณถึง 10,240 ตัน มูลค่า 2,217 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 61 ของสินค้าประมงทั้งหมดที่ส่งออกไปจีน แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์โรคระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้คาดการณ์ว่าการส่งออกสินค้ากุ้งมีชีวิตและกุ้งสดแช่เย็น ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน 2563 จะลดลงร้อยละ 50 – 95 เหลือเพียง 1,500 – 2,900 ตัน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 340 – 650 ล้านบาท สำหรับสินค้าอื่น ๆ อาทิ ผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูป และปลาแช่เย็นแช่แข็ง ได้รับผลกระทบเล็กน้อย เพราะมีการส่งออกเพียงร้อยละ 6

ส่วนด้านการบริโภคสินค้าสัตว์น้ำภายในประเทศนั้น ปกตินักท่องเที่ยวจากต่างประเทศซึ่งมีกำลังซื้อมากจะใช้จ่ายเงินอยู่ที่ประมาณ 5,290 บาทต่อคนต่อวัน โดยเป็นค่าใช้จ่ายค่าอาหารและเครื่องดื่ม คิดเป็นร้อยละ 19 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด (ที่มา : สำนักสถิติแห่งชาติ) ซึ่งเมื่อหากนำพิจารณาค่าใช้จ่ายในการบริโภคเฉพาะสัตว์น้ำของนักท่องเที่ยวคิดเป็นเพียงร้อยละ 2.5 – 5 เนื่องจากไม่มีข้อมูลค่าใช้จ่ายที่ระบุในด้านนี้โดยตรง คาดการณ์ว่าจะทำให้สูญเสียรายได้ในการจำหน่ายสินค้าสัตว์น้ำถึง 264.5 – 529 ล้านบาท จากการที่นักท่องเที่ยวชะลอ หรืองดการเดินทางมายังประเทศไทย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวจีนที่นิยมรับประทานอาหารทะเล

อย่างไรก็ตาม กรมประมงได้เตรียมวางมาตรการเพื่อกระตุ้นและส่งเสริมการบริโภคสัตว์น้ำของกลุ่มลูกค้าภายในประเทศ โดยจะร่วมมือกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพานิชย์ ในการจัดกิจกรรมให้ประชาชนได้เข้าถึงแหล่งจำหน่ายสินค้าสัตว์น้ำที่มีคุณภาพง่ายขึ้น นอกจากนี้ ยังมีแผนการดำเนินงานร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการบริโภคกุ้งทะเลในจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมอีกด้วย อีกทั้งจะเร่งสื่อสารทำความเข้าใจกับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและชาวประมงเพื่อให้รับทราบถึงปัญหาอุปสรรคในการส่งออก โดยเฉพาะเกษตรกรและผู้ประกอบการที่ส่งออกสินค้าไปยังประเทศจีน ให้ชะลอการเลี้ยงไปก่อนจนกว่าสถานการณ์โรคระบาดจะคลี่คลาย และเร่งปรับตัวหาทางรอด โดยปรับปรุงผลิตภัณฑ์สินค้าหรือหาตลาดใหม่ทดแทน

โฆษกกรมประมง กล่าวในตอนท้ายว่า ล่าสุด…กรมประมงได้ช่วยเหลือเกษตรกรกลุ่มคลัสเตอร์กุ้งกุลาดำภาคใต้ ด้วยการเปิดให้มีการสั่งจองสินค้ากุ้งกุลาดำสด ไร้สารตกค้าง เกรดส่งออกประเทศจีน โดยตรงจากเกษตรกรผ่านทางระบบสั่งจองสินค้าสัตว์น้ำออนไลน์ในราคาย่อมเยา เช่น กุ้งกุลาดำขนาด 30 – 40 ตัว/กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 250 บาท และกุ้งกุลาดำขนาด 40 – 50 ตัว/กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 200 บาท ซึ่งกรมประมงจัดกิจกรรมดังกล่าวจะมาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกเดือน เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมการตลาดภายในประเทศ ผู้บริโภคสามารถร่วมอุดหนุนโดยการสั่งจองสินค้าผ่านทางเว็บไซต์ https://coastalaqua.fisheries.go.th/preorder/public/t/กุ้งทะเล ได้ตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 – 1 มีนาคม 2563 และรับสินค้าได้ที่ กองวิจัยและพัฒนาสัตว์น้ำชายฝั่ง กรมประมง (ติด BTS เกษตรศาสตร์) ได้ในวันที่ 2 มีนาคม 2563 ตั้งแต่เวลา 09.30 – 12.00 น. สอบถามรายละเอียดได้ที่ Call Center กรมประมง โทรศัพท์ 0 2562 0569