สถานการณ์ตลาดน้ำมันประจำสัปดาห์ที่ 17-21 ก.พ. 63 และคาดการณ์สัปดาห์ที่ 24-28 ก.พ. 63

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก

  • ธนาคารกลางจีน (PBOC) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (Loan Prime Rate: LPR) ลง 0.10% อยู่ที่ระดับ 4.05% เพื่อลดต้นทุนการกู้ยืมสำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจ
  • สหรัฐฯ คว่ำบาตรบริษัท Rosneft Trading SA บริษัทลูกของ Rosneft ที่กรุงเจนีวา เนื่องจากค้าน้ำมันกับบริษัทน้ำมันแห่งชาติของเวเนซุเอลา (PDVSA) ทั้งนี้กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ เห็นว่าการคว่ำบาตรจะไม่กระทบต่อ Global Oil Flow เพราะอุปทานน้ำมันโลกมีพอเพียง อนึ่ง PDVSA ผลิตน้ำมันที่ระดับ 850,000 บาร์เรลต่อวัน และมีน้ำมันพร้อมส่งออกในเดือน ก.พ. 63 ปริมาณ 677,000 บาร์เรลต่อวัน
  • วันที่ 18 ก.พ. 63 กองกำลัง Libyan National Army (LNA) นำโดยนายพล Khalifa Haftar โจมตีเรือสินค้าของตุรกีที่เทียบท่าในเมือง Tripoli เพื่อลำเลียงอาวุธให้ Government of National Accord (GNA) รัฐบาลที่ชาติตะวันตกยอมรับ ทำให้ GNA ประกาศยุติการการเจรจาสงบศึกที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งมีสหประชาชาติเป็นเจ้าภาพ ล่าสุดบริษัทน้ำมันแห่งชาติลิเบียรายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ ณ วันที่ 20 ก.พ. 63 ลดลงมาอยู่ที่ 122,000 บาร์เรลต่อวัน จากเดือน ม.ค. 63 ผลิตที่ 760,000 บาร์เรลต่อวัน
  • State Statistics Committee ของประเทศอาเซอร์ไบจานรายงานท่อขนส่งน้ำมันดิบ Baku-Tbilisi-Ceyhan (1 ล้านบาร์เรลต่อวัน) ใช้ส่งออกน้ำมันดิบในเดือน ม.ค. 63 ปริมาณ 712,200 บาร์เรลต่อวัน โดยส่งออกน้ำมันดิบ Azeri ลดลงจากปีก่อน 42,600 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ระดับ 621,800 บาร์เรลต่อวัน และส่งออกน้ำมันดิบชนิดอื่นลดลงจากปีก่อน  11,100 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 90,400 บาร์เรลต่อวัน

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ

  • นาย Hashem Hashem, CEO ของ Kuwait Petroleum Corp. (KPC) เปิดเผยว่าแหล่ง Khafji จะสามารถเริ่มการผลิตน้ำมันได้ภายในสิ้นเดือน ก.พ. 63 ส่วนแหล่ง Wafra จะกลับมาดำเนินการภายในสัปดาห์นี้ และคาดปริมาณการผลิตใน สิ้นปี พ.ศ. 2563 อยู่ที่ 500,000 บาร์เรลต่อวัน
  • Energy Information Administration (EIA) คาดการณ์ปริมาณการผลิต Shale Oil ของสหรัฐฯ เดือน มี.ค. 63 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 18,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ระดับ 9.18 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ปริมาณการผลิตจาก Permian Basin จะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 39,000 บาร์เรลต่อวัน สู่ระดับ 4.86 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • ICE รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ Brent ในตลาดลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุด 18 ก.พ. 63 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 841 สัญญา อยู่ที่ 282,590 สัญญา
  • CFTC รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดนิวยอร์กและตลาดลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุด 18 ก.พ. 63 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับ Net Long Position ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 28,341 สัญญา อยู่ที่ 118,732 สัญญา
  • Baker Hughes Inc. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมัน (Oil Rig) ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 21 ก.พ. 63 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1 แท่น อยู่ที่ 679 แท่น เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 3

แนวโน้มราคาน้ำมัน

ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง เนื่องจากนักลงทุนกังวลต่ออุปสงค์น้ำมันโลกหลังไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (COVID-19) ยังแพร่ระบาด โดยในวันที่ 23 ก.พ. 63 ยอดรวมผู้เสียชีวิตในจีน 2,442 ราย และติดเชื้อ 76,936 ราย ขณะที่เกาหลีใต้มีผู้เสียชีวิต 6 ราย และติดเชื้อ 602 ราย และในอิตาลีมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมากกว่า 130 ราย เพิ่มขึ้นจาก 3 ราย เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 63 และในอิหร่านมีผู้เสียชีวิต 8 ราย และติดเชื้อ 43 ราย ทำให้ตุรกี, ปากีสถาน, อาร์เมเนีย, และอัฟกานิสถาน ปิดชายแดนที่ติดกับอิหร่าน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจขยายวงไปทั่วโลก อีกทั้งตลาดถูกกดดันจากข้อมูลกิจกรรมทางธุรกิจในสหรัฐฯ ที่ส่งสัญญาณถดถอย ประกอบกับสถาบันการเงินระหว่างประเทศ (Institute of International Finance: IIF) คาดการณ์ว่าการระบาดของไวรัสทำให้เกิดความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ อาจกดดันอัตราการเติบโตของจีนลง 0.5%-0.7% ในกรณีที่จีนขยายตัวเพียง 5% อาจทำให้อุปสงค์น้ำมันจีนลดลงประมาณ 400,000 บาร์เรลต่อวัน และประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะในเอเชียลดลงตาม ทำให้อุปสงค์น้ำมันโลกโดยรวมในปี พ.ศ.2563 นี้ เพิ่มขึ้นเพียง 300,000-400,000 บาร์เรลต่อวัน จากคาดการณ์เดิมที่ 900,000 บาร์เรลต่อวัน และมีแนวโน้มจะปรับคาดการณ์ราคาน้ำมันเฉลี่ยปีนี้ลดลง อยู่ที่ระดับ 57-58 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากเดิมที่ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การระบาดของไวรัส COVID-19 ด้านเทคนิคสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 53-58 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 48-53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubai จะะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 51-56 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน

ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้น จาก Sinopec บริษัทน้ำมันแห่งชาติของจีนลดอัตราการกลั่นที่โรงกลั่น Guangzhou (กำลังการกลั่น 264,000 บาร์เรลต่อวัน) จาก 95% ในเดือน ม.ค. 63  มาอยู่ที่ 63% ในเดือน ก.พ. 63 ประกอบกับ Petroleum Planning and Analysis Cell (PPAC) ของอินเดียรายงานความต้องการใช้น้ำมันเบนซินเดือน ม.ค. 63 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน  3.5% อยู่ที่ 673,420 บาร์เรลต่อวัน ด้านปริมาณสำรอง EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 14 ก.พ. 63 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.9 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 259.1 ล้านบาร์เรล  ต่ำสุดในรอบ 1 เดือน  อย่างไรก็ตาม Platts รายงานว่ายอดขายรถยนต์ในจีน เดือน ม.ค. 63 ลดลงจากปีก่อน 18% อยู่ที่ระดับ 1.94 ล้านคัน จากเหตุเชื้อไวรัสโคโรนาแพร่ระบาด อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันเบนซินถูกกดดันจากแรงขายของ จีน และไต้หวัน ด้านปริมาณสำรอง International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 19 ก.พ. 63 เพิ่มขึ้น 330,000 บาร์เรล  จากสัปดาห์ก่อน อยู่ที่ 13.5 ล้านบาร์เรล  สูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์  ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 61-66 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล

ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นจากแรงซื้อของ อินเดีย และ แอฟริกาใต้ ประกอบกับ Platts รายงาน  Arbitrage น้ำมันดีเซลจากจีนสู่ยุโรปเปิด โดย Unipec ส่งออกน้ำมันดีเซลด้วยเรือ Very Large Crude Carrier ลำใหม่ปริมาณ 2 ล้านบาร์เรล  ขณะที่ PPAC ของอินเดียรายงานปริมาณนำเข้าน้ำมันดีเซล เดือน ม.ค. 63 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 37.8 % อยู่ที่ 5.14 ล้านบาร์เรล  เนื่องจากอินเดียจะใช้น้ำมันดีเซลตามมาตรฐาน Bharat Stage V 6 (0.001% S : ซึ่งเทียบเท่ากับยูโร 6) ในเดือน เม.ย. 63 อีกทั้ง EIA รายงานปริมาณสำรอง Distillates เชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 14 ก.พ. 63 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 600,000 บาร์เรล อยู่ที่ 140.6 ล้านบาร์เรล  อย่างไรก็ตาม Platts รายงานว่าอุปสงค์น้ำมันดีเซลในตลาดเอเชียไม่สู้ดีนัก และ สำนักสถิติของอินโดนีเซียรายงานปริมาณการนำเข้าน้ำมันดีเซลในปี พ.ศ. 2562 ลดลงจากปีก่อน 33.4 % อยู่ที่ 28.65  ล้านบาร์เรล  เนื่องจากยอดใช้ Biodiesel และปริมาณผลิต Middle Distillate ภายในประเทศเพิ่มขึ้น ประกอบกับ IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 19 ก.พ. 63 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 50,000 บาร์เรล อยู่ที่ 11.68 ล้านบาร์เรล  สูงสุดในรอบเกือบ 5 เดือน  ทางเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 62-67 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล