“พาณิชย์” ไขข้อกังวลการเข้าร่วมเป็นภาคี CPTPP ของไทย

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ตามที่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) มีมติมอบให้กระทรวงพาณิชย์รวบรวมผลการศึกษา เรื่องการเข้าเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) เพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาว่า ไทยควรเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP หรือไม่ นั้น ขณะนี้ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการเตรียมการพิจาณาเข้ารวมความตกลง CPTPP อยู่ระหว่างดำเนินการเตรียมนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี โดยในเบื้องต้น ผลการศึกษาพบว่า การเข้าร่วมความตกลง CPTPP จะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทย ทำให้ GDP ขยายตัว 0.12% คิดเป็นมูลค่า 13,323 ล้านบาท การลงทุนขยายตัว 5.14% คิดเป็นมูลค่า 148,240 ล้านบาท การส่งออกขยายตัว 3.47% คิดเป็นมูลค่า 271,340 ล้านบาท และเกิดการจ้างงาน 73,370 ล้านบาท รวมทั้ง ไทยจะสามารถส่งออกสินค้าหลายรายการได้เพิ่มขึ้นจากการที่สมาชิก CPTPP จะต้องเปิดตลาดให้ไทยเพิ่มเติมมากกว่า FTA ที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น ไก่แปรรูป น้ำตาล ข้าว อาหารทะเล ผลไม้สด/แห้ง รถยนต์และส่วนประกอบ ยาง เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ และเครื่องแต่งกาย เป็นต้น นอกจากนี้ ผลการศึกษายังพบว่า หากไทยตัดสินใจไม่เข้าร่วม CPTPP จะเกิดค่าเสียโอกาสจากการเป็นห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาคและของโลก โดย GDP จะลดลง 0.25% คิดเป็นมูลค่า 26,629 ล้านบาท การลงทุนลดลง 0.49% คิดเป็นมูลค่า 14,270 ล้านบาท การส่งออกลดลง 0.19% คิดเป็นมูลค่า 14,560 ล้านบาท และจ้างงานผลตอบแทนแรงงานจะลดลง 8,440 ล้านบาท

นางอรมน เสริมว่า ในส่วนที่มีผู้กังวลว่า การเข้าร่วม CPTPP ของไทย จะทำให้ไทยต้องรับเงื่อนไข หรือข้อผูกพันที่จะกระทบต่อประชาชนนั้น กระทรวงพาณิชย์ เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีตั้งทีมเจรจาที่จะประกอบด้วยผู้แทนกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อทำหน้าที่เจรจาต่อรอง กำหนดเงื่อนไข ความยืดหยุ่น ข้อยกเว้น และระยะเวลาปรับตัวในการเป็นสมาชิกความตกลงฯ เพื่อไม่ให้กระทบประชาชนและให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุด เพราะความตกลงเปิดให้สมาชิกสามารถเจรจาในเรื่องเหล่านี้ได้ เช่น ในส่วนของการเปิดตลาด มีสมาชิกได้เวลาปรับตัวสูงถึง 21 ปี และในส่วนการปฏิบัติตามกฎระเบียบความตกลงฯ ก็สามารถขอข้อยกเว้นและระยะเวลาการปรับตัวได้ เป็นต้น นอกจากนี้ หากเจรจาแล้วไม่เป็นที่พอใจ และเห็นว่าไม่เกิดประโยชน์ ไทยก็ยังสามารถตัดสินใจที่จะไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP ได้ โดยคณะเจรจาจะต้องนำผลการเจรจา มาขอความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนให้สัตยาบัน อย่างไรก็ดี ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจโลกและการแข่งขันทางการค้าที่สูงขึ้นในปัจจุบัน พบว่า สมาชิก CPTPP โดยเฉพาะเพื่อนบ้านอาเซียนของไทย เช่น เวียดนามและสิงคโปร์ ได้ประโยชน์จากการเข้าเป็นสมาชิก CPTPP เป็นอย่างมาก โดยตั้งแต่ที่สมาชิก CPTPP สรุปผลการเจรจาได้ในปี 2558 จนถึงปี 2562 พบว่า เวียดนามสามารถขยายการส่งออกไปประเทศ CPTPP เพิ่มขึ้นถึง 7.85% สิงคโปร์เพิ่มขึ้น 9.92% ในขณะที่การส่งออกของไทยไปประเทศ CPTPP ขยายตัวเพียง 3.23% แสดงให้เห็นว่าหากไทยนิ่งเฉย มีความเสี่ยงสูงว่า ไทยจะตกขบวนและเสียประโยชน์ที่ควรจะได้รับในฐานะห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาคและโลก

นางอรมน เพิ่มเติมว่า ในส่วนประเด็นข้อกังวล เรื่องสิทธิบัตรยา การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ ทรัพย์สินทางปัญญา และการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ นั้น เมื่อศึกษารายละเอียดของความตกลง และการเจรจาขอความยืดหยุ่นของสมาชิก ได้ช่วยคลายกังวลไปมากเพราะพบว่า ความตกลงเปิดโอกาสให้สมาชิกสามารถขอยกเว้นและระยะเวลาการปรับตัวจากการปฏิบัติตามความตกลงได้ โดยในส่วนข้อกังวลว่า ไทยจะต้องขยายระยะเวลาคุ้มครองสิทธิบัตรยา คุ้มครองข้อมูลการทดสอบยา และไม่สามารถบังคับใช้สิทธิในสิทธิบัตรยา (CL) ได้นั้น ความตกลง CPTPP ได้ถอดเรื่องนี้ออกไปแล้ว ตั้งแต่สหรัฐฯ ถอนตัวออกจากการเจรจา ไทยจึงไม่ต้องดำเนินการใดๆ เพิ่มเติมในเรื่องนี้ นอกจากนี้ ความตกลงฯ ยังยืนยันสิทธิของสมาชิกในการใช้มาตรการ CL ขององค์การการค้าโลก (WTO) ความตกลง CPTPP จึงไม่กระทบต่อการเข้าถึงยาราคาถูกของประชาชน  ในส่วนข้อกังวลเรื่องที่เกษตรกรจะไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์พืชไว้ปลูกได้ หากเข้าเป็นสมาชิก UPOV 1991 นั้น  UPOV 1991 ได้ให้ทางเลือกสมาชิกสามารถออกกฎหมายเพื่อยกเว้นให้เกษตรกรสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกในพื้นที่ของตนได้ แม้จะเป็นสมาชิก UPOV 1991 นอกจากนี้ ความตกลง CPTPP ยังเปิดช่องให้สมาชิกสามารถกำหนดมูลค่าขั้นต่ำของการเข้ามาแข่งขันในโครงการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ ถ้ามูลค่าต่ำว่าที่กำหนดไว้ ก็ไม่ต้องเปิดให้เข้ามาแข่งขัน และมีระยะเวลาการปรับตัว ซึ่งหลักการเจรจาของไทยจะยึดผลประโยชน์ของไทยเป็นที่ตั้ง และจะรับฟังข้อกังวลของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในประเทศ เพื่อให้การเจรจาเกิดประโยชน์ต่อประเทศสูงสุด

นางอรมน เพิ่มเติมว่า กระทรวงพาณิชย์ยังได้ให้ความสำคัญกับการเตรียมกลไกช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกร SMEs และผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากความตกลงฯ โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ได้มีการตั้งคณะทำงานพิจารณาแนวทางการพัฒนากองทุนฯ โดยมีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานซึ่งอยู่ระหว่างหารือผู้เกี่ยวข้องเพื่อให้สามารถจัดตั้งกองทุนและตอบ สนองความต้องการต่อผู้ได้รับผลกระทบอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีประเทศที่ให้สัตยาบันความตกลง CPTPP แล้ว 7 ประเทศ ได้แก่ เม็กซิโก แคนาดาออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเวียดนาม โดยความตกลงมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2561 ซึ่งสมาชิก CPTPP 7 ประเทศ มีประชากรกว่า 415.8 ล้านคน คิดเป็น 6% ของประชากรโลก โดยในปี 2562 การค้าของไทยกับ CPTPP 7 ประเทศมีมูลค่ารวม 114.93 พันล้านเหรียญ คิดเป็นสัดส่วน 23.6% ของการค้าไทยกับโลก โดยไทยส่งออกไปยังสมาชิก CPTPP มูลค่า 61.48 พันล้านเหรียญ (25% ของการส่งออกไทยไปโลก) และนำเข้ามูลค่า 53.44 พันล้านเหรียญ (22% ของการนำเข้าของไทยจากโลก)

…………………………………………..