ประมงเฮลั่น” บิ๊กป้อม ” สั่งลุยควบรวมเรือประมง จับปลาได้เต็มปี

คณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติ…เปิดโอกาสให้ชาวประมงที่เป็นเจ้าของเรือประมงพาณิชย์ที่ประสงค์จะโอนใบอนุญาตในลักษณะควบรวมปริมาณสัตว์น้ำ สามารถยื่นขอหนังสือรับรองเพื่อดำเนินการกับเรือประมงที่จะนำออกนอกระบบกับกรมประมงได้ ณ สำนักงานประมงจังหวัด หรือ สำนักงานประมงอำเภอท้องที่ที่ติดทะเล ก่อนยื่นขอรับใบอนุญาตการทำประมงพาณิชย์รอบปีการทำประมงใหม่ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 นี้

นายมีศักดิ์ ภักดีคง อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายประมงแห่งชาติได้ให้ความเห็นชอบกรมประมงออกประกาศ เรื่อง กำหนดชนิดเครื่องมือทำการประมงที่สามารถโอนใบอนุญาตในลักษณะควบรวมปริมาณสัตว์น้ำ และการโอนปริมาณสัตว์น้ำที่คงเหลือจากการโอนใบอนุญาตในลักษณะควบรวมปริมาณสัตว์น้ำ และกำหนดแบบคำขอรับโอนใบอนุญาตในลักษณะควบรวมปริมาณสัตว์น้ำ และแบบคำขอรับโอนปริมาณสัตว์น้ำที่คงเหลือจากการโอนใบอนุญาตในลักษณะควบรวมปริมาณสัตว์น้ำ พ.ศ. 2563 ลงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563

เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนและช่วยเหลือพี่น้องชาวประมงพาณิชย์ในการลดภาระค่าใช้จ่ายในการต่ออายุใบอนุญาตการทำประมง  พร้อมจัดสรรทรัพยากรสัตว์น้ำให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับขีดความสามารถในการทำประมง และปริมาณผลิตผลสูงสุดของสัตว์น้ำที่สามารถทำการประมงได้อย่างยั่งยืน โดยชาวประมงที่ประสงค์จะโอนใบอนุญาตในลักษณะควบรวมปริมาณสัตว์น้ำ สามารถยื่นขอหนังสือรับรองเพื่อดำเนินการกับเรือประมงที่จะนำออกนอกระบบ ณ สำนักงานประมงจังหวัดหรือ สำนักงานประมงอำเภอท้องที่ที่ติดทะเล ก่อนยื่นขอรับใบอนุญาตการทำประมงพาณิชย์ในรอบปีการทำประมงใหม่ ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 นี้  โดยมีเงื่อนไข ดังต่อไปนี้

1.ชนิดเครื่องมือทำการประมงที่สามารถโอนใบอนุญาตในลักษณะควบรวมปริมาณสัตว์น้ำได้ ประกอบด้วย

2.ต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เรือประมงที่จะขอรับโอนใบอนุญาตฯ แล้วเท่านั้น

3.ใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ที่จะโอนใบอนุญาตในลักษณะควบรวมปริมาณสัตว์น้ำต้องเป็นพื้นที่ที่ทำการประมงเดียวกัน

4.ผู้รับโอนใบอนุญาตต้องมีสิทธิทำการประมงในเขตการประมงไทย

5.ผู้รับโอนใบอนุญาตต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 39 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

6.เรือประมงต้องไม่อยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดี

7.เจ้าของเรือที่รับโอนต้องดำเนินการกับเรือลำเดิม หรือเรือประมงของผู้โอน โดยวิธีการที่กำหนด คือ การทำลายเรือ การเปลี่ยนประเภทการใช้เรือ การโอนกรรมสิทธิ์ให้ชาวต่างชาติ การทำให้เรือสิ้นสภาพ
ให้แล้วเสร็จก่อนการอนุญาต

สำหรับแนวทางการดำเนินการโอนใบอนุญาตในลักษณะควบรวมปริมาณสัตว์น้ำ มีดังนี้

1. ผู้ที่ประสงค์จะโอนใบอนุญาตในลักษณะควบรวมปริมาณสัตว์น้ำ สามารถยื่นขอหนังสือรับรองเพื่อดำเนินการกับเรือประมงลำที่จะนำออกนอกระบบกับกรมประมงได้ก่อนยื่นคำขอรับใบอนุญาต ณ สำนักงานประมงจังหวัด หรือ สำนักงานประมงอำเภอท้องที่ที่ติดทะเล

2.ภายหลังจากที่ได้รับหนังสือรับรอง ฯ เจ้าของเรือจะต้องดำเนินการกับเรือประมงลำที่จะนำออกนอกระบบให้แล้วเสร็จตามที่แจ้งความประสงค์ไว้

3.ยื่นคำขอโอนในลักษณะควบรวม พร้อมแนบเอกสาร ดังนี้

–  แสดงบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ขอรับโอนใบอนุญาต (ที่ยังไม่หมดอายุ)

–  แสดงหนังสือรับรองการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ที่แสดงวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการประมงซึ่งออกให้ ไม่เกิน 3 เดือน (กรณีเป็นนิติบุคคล)

–  แนบหนังสือมอบอำนาจ พร้อมแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนผู้มอบอำนาจ และแสดงบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบและผู้รับมอบอำนาจ (กรณีที่มีการมอบอำนาจ)

–  แสดงเอกสารหรือหลักฐานความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เรือที่จะรับโอนใบอนุญาต

–  แนบเอกสารหรือหลักฐานที่แสดงว่าเจ้าของเรือ ผู้ควบคุมเรือ หรือผู้ได้รับใบอนุญาตเดิม
ไม่มีผลประโยชน์ได้เสีย ทั้งทางตรงและทางอ้อม หรือมีอำนาจควบคุมเรือประมงอีกต่อไป (กรณีเรือประมงที่จะขอรับโอนใบอนุญาตเคยถูกใช้ในการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการประมง)

–  แนบหนังสือยินยอมให้ใช้เรือประมง (กรณีที่มีการถือกรรมสิทธิ์ร่วม)

–  แนบหนังสือแสดงความยินยอมให้โอนใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ในลักษณะควบรวมปริมาณสัตว์น้ำของ  ผู้โอนใบอนุญาต พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้โอนใบอนุญาต

–  แสดงใบมรณบัตร (กรณีผู้โอนใบอนุญาตถึงแก่ความตาย)

–  แนบเอกสารหรือหลักฐานที่แสดงว่าได้ดำเนินการกับเรือประมงที่จะนำปริมาณสัตว์น้ำมาควบรวมโดยวิธีการทำลาย หรือเปลี่ยนประเภท หรือโอนกรรมสิทธิ์เรือที่ไม่ต้องด้วยลักษณะที่จะถือกรรมสิทธิ์หรือทำให้เรือสิ้นสภาพจากการเป็นเรือที่ใช้ทำการประมง เสร็จสิ้นแล้ว

4.ภายหลังได้รับอนุญาตให้โอนใบอนุญาตฯ ผู้ขอรับโอนจะต้องชำระค่าธรรมเนียม และรับใบอนุญาตใบใหม่ กรณีมีปริมาณสัตว์น้ำเหลือจะได้รับหนังสือรับรองปริมาณสัตว์น้ำให้แก่ผู้ได้รับอนุญาต
ซึ่งสามารถนำไปโอนปริมาณสัตว์น้ำให้เเก่เรือประมงลำอื่นได้อีก