สถานการณ์ตลาดน้ำมันประจำสัปดาห์ที่ 10-14 ก.พ. 63 และคาดการณ์สัปดาห์ที่ 17-21 ก.พ. 63 โดยส่วนวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก

  • การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ป่วยรายใหม่จากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาของจีนชะลอตัวลง ช่วยบรรเทาความกังวลให้กับนักลงทุน วันที่ 16 ก.พ. 63 National Health Commission รายงานจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2,009 ราย ลดลงจากวันก่อนที่ 2,641 ราย ลดต่อเนื่องกันเป็นวันที่ 3 ประกอบกับรายงานทางการแพทย์จีนคาดว่าการแพร่ระบาดจะสิ้นสุดลงในเดือน เม.ย. 63
  • วันที่ 8 ก.พ. 63 บริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบีย (NOC) ปิดโรงกลั่น Zawiya (กำลังการผลิต 120,000 บาร์เรลต่อวัน ) หลังท่าส่งออกน้ำมันถูกปิดล้อม ส่งผลให้แหล่งผลิตน้ำมันดิบ Sharara (กำลังการผลิต 300,000 บาร์เรลต่อวัน ) ปิดดำเนินการ ทั้งนี้ National Oil Corp. (NOC) ของลิเบียรายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ ณ.วันที่ 11 ก.พ. 63 อยู่ที่ 183,000 บาร์เรลต่อวัน (เดือน ม.ค. 63 ผลิตที่ 760,000 บาร์เรลต่อวัน )
  • 12 ก.พ. 63 บริษัทน้ำมันแห่งชาติ Ecopetrol ของโคลัมเบียรายงานท่อขนส่งน้ำมัน Cano Limon (กำลังสูบถ่าย 210,000 บาร์เรลต่อวัน ) ที่เมือง Toledo จังหวัด Norte de Santander หยุดสูบถ่ายชั่วคราว หลังถูกลอบวางระเบิด ทำให้เกิดเพลิงไหม้และน้ำมันรั่วไหลลงแม่น้ำ

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ

  • สำนักวิเคราะห์ด้านพลังงานชั้นนำ ได้แก่ EIA, OPEC และ IEA ปรับลดประมาณการอัตราการเติบโตของความต้องการใช้น้ำมันโลกในปี พ.ศ. 2563 จากคาดการณ์เดิมของเดือนก่อน เนื่องจากผลกระทบของไวรัสโคโรนา โดย EIA ปรับลดลง 310,000 บาร์เรลต่อวัน จากการประเมินครั้งก่อน มาอยู่ที่ 1,030,000 บาร์เรลต่อวันจากปีก่อน ส่วน OPEC ปรับลดลง 230,000 บาร์เรลต่อวันจากปีก่อน มาอยู่ที่ 990,000 บาร์เรลต่อวัน และ IEA ปรับลดลง 365,000 บาร์เรลต่อวันจากปีก่อน  มาอยู่ที่ 825,000 บาร์เรลต่อวันจากปีก่อน
  • Baker Hughes Inc. รายงานจำนวน Rig ขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 14 ก.พ. 63 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 2 แท่น มาอยู่ที่ 678 แท่น เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 2 สัปดาห์
  • CFTC รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดนิวยอร์กและตลาดลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 11 ก.พ. 63 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับ Net Long Position ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 15,446 สัญญา มาอยู่ที่ 147,071 สัญญา
  • ICE รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ Brent ในตลาดลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 11 ก.พ. 63 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 69,284 สัญญา มาอยู่ที่ 283,431 สัญญา

แนวโน้มราคาน้ำมัน

ราคาน้ำมันได้แรงหนุนจากประกาศของทางการจีนว่าพบจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 รายใหม่ลดลงเป็นวันที่ 3 ติดต่อกัน ประกอบกับรัฐบาลจีนใช้มาตรการการคลังลดผลกระทบจากโรคระบาดโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นาย Liu Kun ระบุว่ารัฐบาลมีแผนลดอัตราภาษีรายได้นิติบุคคลและจะลดหรือยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมถึงมีแผนจัดสรรเพื่อช่วยเหลือภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัส ด้านความเคลื่อนไหวของ OPEC และชาติพันธมิตรจะลดการผลิตน้ำมันดิบเพิ่มเติมเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ที่ลดลงจากโรคระบาด อนึ่ง S&P Global กล่าวว่าผลการทดลอง Stress Test ในกรณีที่ราคาน้ำมันลดลงแตะระดับ 40 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ภายในปี พ.ศ. 2583 จะส่งผลให้อันดับความน่าเชื่อถือของประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบบริเวณอ่าวอาหรับอาจถูกปรับลดลง 2 ขั้น จาก BBB+ ในปัจจุบัน เป็น BBB- ทั้งนี้ รายได้จากการส่งออกปิโตรเลียม คิดเป็น 81% ของรายได้ทั้งหมดของรัฐบาลในอ่าวอาหรับ ตอกย้ำความเสี่ยงจากการพึ่งพารายได้ส่วนใหญ่จากการขายปิโตรเลียม  ด้านเทคนิคสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 55-59 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 51-55 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ ในกรอบ 54-58 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน

ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นเนื่องจากแรงซื้อของอินเดีย และโรงกลั่นหลายแห่งในจีนลดอัตราการกลั่น ในเดือน ก.พ. 63 ตามอุปสงค์น้ำมันที่ลดลง  โดย Goldman Sachs คาดในเดือน ก.พ. 63  โรงกลั่นจีนลดปริมาณการกลั่นน้ำมันลง  2.17 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากกำลังการกลั่นรวม 15.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน ด้านปริมาณสำรอง International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรอง Light Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 12 ก.พ. 63 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 350,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 13.17 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์ และ EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 7 ก.พ. 63 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 100,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 261 ล้านบาร์เรล ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้ คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 64-68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล

ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงจากจีนปิดท่าเรือประมง เพื่อป้องการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาส่งผลให้อุปสงค์น้ำมันดีเซล 0.05 %S ลดลง ขณะที่ไต้หวัน, เวียดนาม, และฮ่องกง ชะลอการซื้อ และ IES รายงานปริมาณสำรอง Middle Distillates เชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 12 ก.พ. 63 เพิ่มขึ้น จากสัปดาห์ก่อน 940,000 บาร์เรล อยู่ที่ 11.63 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบเกือบ 5 เดือน อย่างไรก็ตาม Platts รายงานอุปทานน้ำมันดีเซลในตลาดเอเชียมีแนวโน้มตึงตัว เนื่องจากโรงกลั่นน้ำมันในจีนลดอัตราการผลิตและโรงกลั่นน้ำมันในตะวันออกกลางปิดซ่อมบำรุง อย่างไรก็ตาม ศรีลังกา และ แอฟริกาใต้ออกประมูลซื้อน้ำมันดีเซล และ โรงกลั่น Pernis (กำลังการกลั่น 404,000 บาร์เรลต่อวัน ) ของบริษัท Royal Dutch Shell ในเนเธอร์แลนด์ มีแผนปิดซ่อมบำรุงตั้งแต่เดือน พ.ค.-มิ.ย. 63 ด้านปริมาณสำรอง EIA รายงานปริมาณสำรอง Distillates เชิงพาณิชย์ในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 7 ก.พ. 63 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 2 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 141.2 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 1 เดือน ทางเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 66-70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล