กระทรวงเกษตรฯ เปิดปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้ง ประจำปี 2563 อย่างเป็นทางการ ขนทัพอากาศยาน นักบิน นักวิทยาศาสตร์ ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงทั่วประเทศ ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและพี่น้องประชาชน

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีรับมอบปีกฝนหลวงพิเศษ พระราชทาน และพิธีเปิดปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้งประจำปี 2563 พร้อมด้วยร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ สนามบินนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ ในการนี้ ได้ตรวจแถวชุดปฏิบัติการฝนหลวง 8 ชุด และคล้องพวงมาลัยให้กับผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงทั้ง 7 ภูมิภาค เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้กับผู้ปฏิบัติงาน ประกอบด้วย ชุดปฏิบัติการของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร 7 ชุด และชุดปฏิบัติการฝนหลวงกองทัพอากาศ 1 ชุด จากนั้นได้ปล่อยขบวนคาราวานเครื่องบินฝนหลวงออกปฏิบัติการ

นายเฉลิมชัย กล่าวว่า ตามที่สถานการณ์ภัยแล้งในปี 2563 มีแนวโน้มที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นกว่าทุกปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะเกิดขึ้นเป็นระยะเวลานาน จึงทำให้ส่งผลกระทบเรื่องการขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค น้ำเพื่อทำการเกษตร รวมถึงเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่าง ๆ ที่มีปริมาณน้ำน้อยในขณะนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้มอบหมายให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ในฐานะหน่วยงานดูแลบริหารจัดการน้ำในชั้นบรรยากาศ เร่งปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้รวดเร็วมากขึ้น จากปกติที่มีการเริ่มปฏิบัติการฝนหลวงในวันที่ 1 มีนาคมของทุกปี มาเป็นวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 ในวันนี้ โดยได้น้อมนำศาสตร์ตำราฝนหลวงพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้แก่เกษตรกรและผู้ใช้น้ำทั่วทั้งประเทศ รวมถึงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้กับระบบบริหารจัดการน้ำของประเทศด้วย

ด้าน นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับในปี 2563 มีแผนปฏิบัติการประจำปีตั้งแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2563 ตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำ 5 ภูมิภาค จำนวน 7 ศูนย์ ประกอบด้วย หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 11 หน่วยปฏิบัติการทั่วประเทศ โดยมีฐานเติมสารฝนหลวง 5 ฐาน เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือให้ครอบคลุม 25 ลุ่มน้ำหลักในพื้นที่ 77 จังหวัด ตามแผนการดัดแปรสภาพอากาศ ดังนี้ 1) ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเคลื่อนที่เร็ว ระหว่างวันที่ 6 พฤศจิกายน – 2 กุมภาพันธ์ 2563 ปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่มีการร้องขอ และบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองในอากาศ PM2.5 ใช้อากาศยานของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จำนวน 6 ลำ 2) ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงในระหว่างวันที่ 3 – 16 กุมภาพันธ์ 2563 ปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่มีการร้องขอ และบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองในอากาศ PM2.5 ใช้อากาศยานรวมทั้งหมด 12 ลำ ได้แก่ อากาศยานของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จำนวน 8 ลำ และอากาศยานของกองทัพอากาศ จำนวน 4 ลำ และ 3) ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงตั้งแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นต้นไป รวมจำนวน 11 หน่วยปฏิบัติการ ที่ จ.เชียงใหม่ พิษณุโลก นครสวรรค์ กาญจนบุรี ขอนแก่น อุดรธานี บุรีรัมย์ อุบลราชธานี ระยอง ประจวบคีรีขันธ์ (หัวหิน) และสุราษฎร์ธานี ใช้อากาศยานอากาศยานรวมทั้งหมด 29 ลำ ได้แก่ อากาศยานของกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จำนวน 22 ลำ อากาศยานของกองทัพอากาศ จำนวน 6 ลำ และอากาศยานของกองทัพบก จำนวน 1 ลำ โดยเปิดฐานเติมสารฝนหลวง จำนวน 5 ฐาน ที่ จ.ตาก ลพบุรี สกลนคร จันทบุรี และสงขลา (หาดใหญ่)