รมช.เกษตร ลงพื้นที่ตรวจติดตามการบริหารจัดการน้ำและการแก้ไขปัญหาภัยแล้งลุ่มน้ำเจ้าพระยา

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะ ลงพื้นที่ตรวจติดตามการบริหารจัดการน้ำและการแก้ไขปัญหาภัยแล้งลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยมี ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน นายสุรัช ธนูศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่10 และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องร่วมให้การต้อนรับ และบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำ ณ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำว่า ปัจจุบัน (12 ก.พ. 63) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ จำนวน 447 แห่ง มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 40,639 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 57 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 10,173 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 36 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน สถานการณ์น้ำ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 10,242 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 41 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 3,477 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 19 ของปริมาณน้ำใช้การได้ สำหรับผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2562 ทั้งประเทศ ล่าสุด(15 ก.พ. 63) มีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 9,563 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 54 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 2,715 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 68 ของแผนฯ

สำหรับสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดลพบุรี ปัจจุบัน (16ก.พ.63 )อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่จำนวน 1 แห่ง (อ่างเก็บน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง จำนวน 5 แห่ง  มีปริมาณน้ำรวมกัน 212 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 20ของความจุอ่างฯรวมกัน  เฉพาะเขื่อนป่าสักฯ มีปริมาณน้ำ 185 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 19 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การ 182 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 19 ของปริมาณน้ำใช้การได้ กรมชลประทาน ได้ทำการระบายน้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศน์พื้นที่ด้ายท้ายเขื่อน วันละ 0.26 ล้าน ลบ.ม. ตามมาตรการบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนตามลำดับความสำคัญของกิจกรรมการใช้น้ำ   พร้อมประสานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีสถานีสูบน้ำเพื่อการเกษตรงดสูบน้ำ ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือจากเกษตรกรผู้ใช้น้ำ ให้ปฏิบัติตามมาตรการการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาในช่วงฤดูแล้ง ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างเคร่งครัด เพื่อให้มีน้ำเพียงพออุปโภคบริโภคไปจนตลอดฤดูแล้งนี้

………………………………………………….