GGC แจ้งผลการดำเนินงานประจำปี 2562 ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ในปี 2562 ภาพรวมของผลผลิตปาล์มน้ำมันและปริมาณสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบในประเทศและต่างประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า ถึงแม้ว่าในช่วงไตรมาส 4/2562 ปริมาณสต๊อกจะลดลงอย่างรวดเร็วมาอยู่ที่ระดับ 300,000 ตัน เป็นครั้งแรกในรอบปี เนื่องมาจากผลผลิตที่ออกมาน้อยในช่วงปลายปี 2562 ประกอบกับความต้องใช้น้ำมันปาล์มดิบที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการสนับสนุนและกำหนดให้ไบโอดีเซล B10 เป็นน้ำมันพื้นฐานของประเทศไทย ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ทั่วประเทศในปี 2563 ส่งผลให้ราคาน้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันเมล็ดในปาล์มดิบปรับเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงปลายปี 2562 อย่างไรก็ตาม จากปริมาณสต๊อกในประเทศที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2562 จนถึงระดับ 500,000 ตัน ในไตรมาส 3/2562 ส่งผลให้ราคาน้ำมันปาล์มดิบและราคาน้ำมันเมล็ดในปาล์มดิบเฉลี่ยปรับลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2561 ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะพยายามออกมาตรการกระตุ้นราคาน้ำมันปาล์มดิบด้วยการประกันราคาทลายปาล์มดิบ (FFB) ให้กับเกษตรกรที่ 4 บาท/กก. การสนับสนุนการใช้ไบโอดีเซล B10 และ B20 ให้เป็นทางเชื้อเพลิงทางเลือกตลอดปี 2562 โดยการอุดหนุนราคาให้ต่ำกว่าไบโอดีเซลเกรดปกติ (B7) จำนวน 1 บาท/ลิตร และ 5 บาท/ลิตร ตามลำดับ จนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2562 และปรับเป็น 2 บาท/ลิตร และ 3 บาท/ลิตร ตามลำดับ ตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคม 2562 เป็นต้นไป และมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับซื้อน้ำมันปาล์มดิบเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องแล้วก็ตาม ในส่วนตลาดแฟตตี้แอลกอฮอล์มีการชะลอตัวลงจากปีก่อนหน้า เนื่องมาจากกำลังซื้อลดลงของผู้บริโภครายสำคัญอย่างประเทศจีน ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะสงครามทางการค้าระหว่างประเทศจีนกับประเทศสหรัฐอเมริกา และการอ่อนค่าลงของค่าเงินหยวน(CNY) เมื่อเปรียบเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ (USD) นอกจากนี้ ความผันผวนของราคาน้ำมันเมล็ดในปาล์มดิบอย่างรุนแรงในช่วงปลายปี 2562 ยังส่งผลให้ผู้บริโภคแฟตตี้แอลกอฮอล์ส่วนมากชะลอการจัดซื้อลงเพื่อรอดูแนวโน้มราคาอีกด้วย

จากปัจจัยดังกล่าว ในปี 2562 บริษัทฯ สามารถสร้างยอดขายของผลิตภัณฑ์เมทิลเอสเทอร์ได้จำนวน 415,882 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 จำนวน 40,960 ตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 11 เนื่องจากบริษัทฯ มีกำลังการผลิตผลิตภัณฑ์เมทิลเอสเทอร์จากโรงงานแห่งที่ 2 เพิ่มอีก 1 แห่ง ซึ่งเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ช่วงไตรมาส 2/2562 ประกอบกับบริษัทฯ สามารถส่งออกผลิตภัณฑ์เมทิลเอสเทอร์ได้จำนวน 6,800 ตัน ในช่วงไตรมาส 2/2562 ในขณะที่ผลิตภัณฑ์แฟตตี้แอลกอฮอล์นั้น บริษัทฯ มียอดขายในปี 2562 จำนวน 96,946 ตัน ปรับลดลง 17,838 ตัน หรือลดลงร้อยละ 16 จากปีก่อนหน้า

ในปี 2562 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายรวมทั้งสิ้น 13,055 ล้านบาท ลดลง 3,170 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 20 จากปี 2561 ในขณะที่บริษัทฯ มี EBITDA จำนวน 499 ล้านบาท ลดลงจากปีที่ผ่านมา 424 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 46 แม้ว่าธุรกิจแฟตตี้แอลกอฮอล์จะสามารสร้าง EBITDA  ได้จำนวน 494 ล้านบาท แต่จากสภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรม  เมทิลเอสเทอร์จากการปรับเพิ่มขึ้นของกำลังการผลิตรวมในประเทศ ทำให้กดดันต่ออัตราการทำกำไรของผลิตภัณฑ์เมทิลเอสเทอร์ อีกทั้ง ยังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ราคาน้ำมันปาล์มดิบที่ปรับลดลงอยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับราคากลีเซอรีนที่ปรับลดลงอย่างมาก จากอุปทานของกลีเซอรีนในตลาดโลกที่ปรับเพิ่มขึ้นตามการเพิ่มสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลของประเทศผู้ผลิตไบโอดีเซลรายใหญ่ จึงทำให้กลุ่มธุรกิจเมทิลเอสเทอร์ได้รับผลกระทบอย่างมาก

อีกทั้ง ในปี 2562 บริษัทฯ ได้รับผลกระทบจากค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งหมด 91 ล้านบาท อาทิ ค่าชดเชยของลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 20 ปี ค่าใช้จ่ายที่ปรึกษาสำหรับการจัดการปัญหาวัตถุดิบคงคลัง และค่าใช้จ่ายซ่อมบำรุงโรงงานจากการปิดซ่อมบำรุงใหญ่ของโรงงานผลิตเมทิลเอสเทอร์แห่งที่ 1 การตรวจสอบอุปกรณ์ของโรงงานเมทิลเอสเทอร์แห่งที่ 2 และ การปิดซ่อมบำรุงเละเปลี่ยนตัวเร่งปฏิกิริยาของโรงงานแฟตตี้แอลกอฮอล์เป็นจำนวน 3 ครั้ง จากปัจจัยดังกล่าวทั้งหมด ส่งผลให้ในปี 2562 บริษัทฯ มีผลขาดทุนสุทธิก่อนรวมรายการพิเศษ จำนวน 16 ล้านบาท ปรับลดลงจากกำไรสุทธิก่อนรวมรายการพิเศษปี 2561 จำนวน 503 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 103

อย่างไรก็ตาม ในปี 2562 นี้ บริษัทฯ ได้มีการเจรจากับคู่ค้าบางรายและสามารถบรรลุข้อตกลง โดยเข้าทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับคู่ค้าดังกล่าวที่ได้ยอมรับความผิดตามที่บริษัทฯ แจ้งความร้องทุกข์ และยินยอมส่งมอบวัตถุดิบคงค้างคืนให้แก่บริษัทฯ เป็นระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งบริษัทฯ รับรู้รายการพิเศษจากการรับคืนวัตถุดิบจากเหตุการณ์วัตถุดิบคงคลังขาดหายเป็นจำนวน 16 ล้านบาท จึงทำให้มูลค่าความเสียหายจากเหตุการณ์วัตถุดิบคงคลังขาดหายลดลง อีกทั้ง บริษัทฯ มีการทบทวนการตั้งสำรองค่าใช้จ่ายจากเหตุการณ์วัตถุดิบคงคลังขาดหายและได้มีการกลับรายการสำรองดังกล่าว จำนวน 217 ล้านบาท ตามมูลค่าจากการตีราคาของหลักประกันที่บริษัทฯ ได้รับจากการเข้าทำสัญญาประนีประนอมยอมความข้างต้น โดยมูลค่าดังกล่าวเป็นการกลับรายการที่น้อยกว่าราคาประเมินที่เป็นไปตามสมมติฐานของหลักการการขายทอดตลาด ซึ่งหากสุทธิด้วยรายการภาษีเงินได้รอตัดบัญชี ทำให้บริษัทฯ รับรู้รายการพิเศษจำนวน 110 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ 94 ล้านบาท เป็นกำไรที่เพิ่มขึ้น 1,255 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 108 เมื่อเปรียบเทียบกับผลขาดทุนสุทธิปี 2561 ที่จำนวน 1,161 ล้านบาท ซึ่งรวมรายการพิเศษจากเหตุการณ์วัตถุดิบคงคลังขาดหายแล้ว

สำหรับสถานะการเงิน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 บริษัทมีสินทรัพย์ จำนวน 12,931 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยส่วนที่เป็นเงินสดและเงินลงทุนระยะสั้นรวมทั้งสิ้น 3,311 ล้านบาท มีหนี้สินรวมทั้งสิ้น 3,283 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้นจำนวน 9,648 ล้านบาท ทั้งนี้บริษัทฯ ยังคงมีสถานะการเงินที่แข็งแรงโดยมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนในระดับต่ำและมีอัตราส่วนสภาพคล่องในระดับสูง

 

#########################################

*** ข้อมูลเกี่ยวกับบริษัท ***

บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC เป็นบริษัทแกนนำในธุรกิจผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Flagship) ของกลุ่ม GC และเป็นผู้บุกเบิกด้านการผลิตผลิตภัณฑ์โอลีโอเคมีในประเทศไทย ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์หลัก ประกอบไปด้วย เมทิลเอสเทอร์ แฟตตี้แอลกอฮอล์ และ กลีเซอรีนบริสุทธิ์  โดย GGC เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ผลิตเมทิลเอสเทอร์รายใหญ่ และเป็นผู้ผลิตแฟตตี้แอลกอฮอล์รายเดียวในประเทศไทย