กรมชลประทาน เร่งแก้ไขน้ำเค็มรุกทะเลสาบสงขลา พร้อมพัฒนาแหล่งน้ำให้ถาวรและยั่งยืน

กรมชลประทานชี้แจงกรณีราษฎรในเขตอำเภอระโนด และบริเวณใกล้เคียงรวมตัวกันเรียกร้องให้แก้ปัญหาน้ำในทะเลสาบสงขลามีค่าความเค็มสูงเกินมาตรฐานไม่สามารถดึงมาใช้ในการอุปโภคและการเกษตรได้เหมือนทุกปี ทำให้นาข้าวกว่า 5 หมื่นไร่ เสี่ยงได้รับความเสี่ยงหาย  พร้อมเสนอขอโครงการคันกั้นน้ำเค็มรุกล้ำน้ำจืด และเก็บกักน้ำจืดแบบถาวรและยั่งยืน

นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน ชี้แจงกรณีที่เกิดขึ้นว่า จากสภาพปัญหาที่ประสบอยู่ในขณะนี้  รัฐบาลมีความห่วงใยและเล็งเห็นความสำคัญของทรัพยากรน้ำมาตลอด โดยเฉพาะพื้นที่ทะเลสาบสงขลา ซึ่งเป็นทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่แห่งเดียวในประเทศไทย  ซึ่งรัฐบาลมีแนวคิดในการอนุรักษ์และพัฒนาทะเลสาบสงขลา มาตั้งแต่ปี 2514 โดยรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ ได้เริ่มทำการศึกษาโครงการคันกั้นน้ำเค็มทะเลสาบสงขลา และได้เสนอแนวคันกั้นน้ำเค็มไว้ ๓ แห่ง ดังนี้ SiteA เกาะใหญ่-แหลมจองถนน SiteB เกาะโคป-ปากพะยูน SiteC ปากรอ  ต่อมาในปี 2527 จนถึงปี 2548 ได้มีการศึกษาถึง ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตลอดจนประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการก่อสร้างโครงการฯ มาโดยตลอด ซึ่งจากการศึกษาและสำรวจแล้ว พบว่า โครงการก่อสร้างคันกั้นน้ำเค็มบริเวณเกาะใหญ่-แหลมจองถนน (SiteA) มีความเหมาะสมที่สุด  แต่เนื่องจากคณะกรรมการพัฒนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา มีมติเห็นควรยกเลิกการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการคันกั้นน้ำเค็มทะเลสาบสงขลา ในปี 2548 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบให้ยกเลิกการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการคันกั้นน้ำเค็มทะเลสาบสงขลา เมื่อปี 2549 โดยให้พิจารณาแนวทางเลือกอื่นในการจัดหาน้ำให้เกษตรกร  และปรับเปลี่ยนอาชีพเกษตรกรรมที่ใช้น้ำน้อย  พร้อมหาอาชีพนอกภาคเกษตร แทนการก่อสร้างโครงการฯ กรมชลประทาน  จึงได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีในการพิจารณาทางเลือกอื่นในการจัดหาน้ำให้เกษตรกร ในปี 2553-2555 โดยดำเนินการศึกษาความเหมาะสมในด้านต่างๆ และกำหนดแผนการดำเนินโครงการบริหารจัดการน้ำคาบสมุทรสทิงพระ จังหวัดสงขลา ขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัย และปัญหาขาดแคลนน้ำ พร้อมปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาระโนด-กระแสสินธุ์

ทั้งนี้ โครงการบริหารจัดการน้ำคาบสมุทรสทิงพระ จังหวัดสงขลา ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ปัจจุบันผลการดำเนินงานแล้วกว่าร้อยละ ๖๐ ทั้งนี้จะดำเนินการจัดทำข้อผูกพันทุกรายการให้เสร็จภายในปี พ.ศ. 2564 และจะเร่งดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จทั้งโครงการ เพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพต่อไป

รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า  ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีความห่วงใยต่อเกษตรกรและประชาชนที่ได้รับความเดือนร้อน จึงได้สั่งการให้แก้ปัญหาเร่งด่วน ด้วยการขุดลอกคลองธรรมชาติ หรือแหล่งน้ำที่สามารถเพิ่มความจุในการเก็บกักน้ำที่มีอยู่ โดยไม่กระทบต่อพื้นที่ของประชาชน พร้อมขอให้ส่วนราชการ ท้องถิ่น ราษฎร กำหนดจุดที่เหมาะสมในการดำเนินการขุดลอก เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาความเหมาะสม สำรวจ ออกแบบ และดำเนินการก่อสร้างต่อไป  เบื้องต้น กรมชลประทาน ได้ประชุมร่วมกับผู้แทนชาวบ้าน เพื่อหารือสรุปแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เมื่อวันที่ 11 กุมภาพัน์ 2563 ที่ผ่าน โดยในที่ประชุมมีมติให้ แบ่งการแก้ไขปัญหาออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่  ระยะสั้น  ให้เร่งดำเนินการสำรวจ ออกแบบ เพื่อทำแผนขุดขยายคูคลองแหล่งน้ำเดิม โดยเฉพาะบ่อยืมดินของคลองชลประทาน เพื่อเพิ่มความจุในการเก็บกักน้ำ   ระยะกลาง  ให้ดำเนินการสำรวจแหล่งน้ำที่มีศักยภาพในการขุดขยายเพิ่มความจุ พร้อมก่อสร้างอาคารควบคุมและระบบเชื่อมต่อแหล่งน้ำให้สามารถใช้น้ำร่วมกันได้เสมือนเป็นแหล่งน้ำเดียวกัน ระยะยาว  ดำเนินการศึกษาภาพรวมของลุ่มน้ำ พร้อมวางแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยบูรณาการร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้กฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับ  โดยไม่ส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

กรมชลประทาน จะเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทั้งในระยะเร่งด่วนและระยะยาว อย่างระมัดระวังและไม่กระทบต่อสิ่งแลดล้อม  โดยยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก  เพื่อให้ทุกพื้นที่มีแหล่งน้ำที่มีคุณภาพสำหรับการอุปโภคบริโภค และการเกษตร อย่างยั่งยืน


กรมชลประทาน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์