ชป.จับมือทุกภาคส่วน ร่วมแก้วิกฤตน้ำแล้ง ยืนยันมีน้ำพออุปโภคบริโภคตลอดช่วงฤดูแล้ง

วันที่ 12 ก.พ.63 ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยผู้บริหารจากหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้าร่วมการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ โดยมี นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการแถลงข่าว ณ  ห้อง112  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรุงเทพมหานคร

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึง สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศว่า จำนวน 447 แห่ง ปัจจุบัน(12 ก.พ. 63) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 43,339 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 57 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 19,561 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 38 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน สถานการณ์น้ำ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 10,242 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 41 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 3,546 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ของปริมาณน้ำใช้การได้ สำหรับผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2562 ทั้งประเทศ ล่าสุด(10 ก.พ. 63) มีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 9,181 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 52 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 2,623 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 66 ของแผนฯ

เนื่องจากสถานการณ์น้ำ ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าปกติ กรมชลประทาน จึงได้ทำการผันน้ำบางส่วนจากแม่น้ำแม่กลองมายังแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อใช้ในการอุปโภค–บริโภค การรักษาระบบนิเวศ และผลักดันน้ำเค็ม พร้อมประสานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีสถานีสูบน้ำเพื่อการเกษตรงดสูบน้ำ ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือจากเกษตรกรผู้ใช้น้ำ ให้ปฏิบัติตามมาตรการการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาในช่วงฤดูแล้ง ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ยังได้บูรณาการร่วมกับการประปานครหลวง ดำเนินงานปฏิบัติการ Water Hammer Operation  โดยการเพิ่มปริมาณน้ำจืดในแม่เจ้าพระยาพร้อมกำหนดให้หยุดสูบเป็นเวลา 2 ชั่วโมง เพื่อใช้ปริมาณน้ำจืดผลักดันและเจือจางค่าความเค็ม ปัจจุบันสถานการณ์ค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่สถานีสูบน้ำดิบสำแล จ.ปทุมธานี และสถานีท่าน้ำนนท์ จ.นนทบุรี อยู่ในเกณฑ์ปกติ สำหรับพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา กรมชลประทาน ได้กำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาเรื่องคุณภาพน้ำ โดย การลำเลียงน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณเหนือสถานีสูบน้ำสำแล จ.ปทุมธานี ผ่านคลองรังสิตฯ คลองระบายน้ำที่ 13 ลงสู่คลองบางขนาก คลองนครเนื่องเขต และคลองพระองค์ไชยานุชิต จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อเป็นการผันน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยามาสนับสนุนปริมาณน้ำดิบสำหรับการผลิตน้ำประปา เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ด้วยเช่นกัน

ด้านการแก้ไขปัญหาน้ำขาดแคลนในพื้นที่ภาคตะวันออก นั้น กรมชลประทาน ได้ร่วมบูรณาการกับทุกภาคส่วนในการช่วยกันแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วน อาทิ บริษัท East Water และการประปาส่วนภูมิภาค ได้สนับสนุนน้ำเข้ามาเสริมในระบบปริมาณกว่า 20 ล้าน ลบ.ม. ด้านสถาบันน้ำและพลังงานเพื่อความยั่งยืน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ร่วมประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือจากการนิคมอุตสาหกรรมลดการใช้น้ำลงร้อยละ 10 โดยในส่วนของกรมชลประทาน ได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และความเข้าใจให้แก่กลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำจากทุกอ่างเก็บน้ำ โดยขอความร่วมมือให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดและเป็นไปตามแผนการจัดสรรน้ำที่วางไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย และให้มีน้ำเพียงพอตลอดฤดูแล้งนี้ต่อเนื่องไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า

ทั้งนี้ กรมชลประทาน จะทำการบริหารจัดการน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด ให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดและเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้ทุกพื้นที่มีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคตลอดช่วงฤดูแล้งนี้  อย่างไรก็ตาม ขอประชาชนทุกพื้นที่ร่วมใจกันประหยัดน้ำ และปฏิบัติตามขอกำหนดการใช้น้ำร่วมกันอย่างเคร่งครัด เพื่อให้มีน้ำเพียงพอทั่วถึงทุกพื้นที่

……………………………………………

 กรมชลประทาน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

12 กุมภาพันธ์ 2563