สมุนไพรน่ารู้ อภัยภูเบศร : คูน ยาระบายสำหรับคนทุกวัย

ชื่อวิทยาศาสตร์ Cassia fistula L.

ชื่อวงศ์ LEGUMINOSAE

ชื่ออื่นๆ ราชพฤกษ์ ชัยพฤกษ์ ลมแล้ง Indian laburnum

ลักษณะทั่วไป ไม้ต้น ใบประกอบแบบขนนกปลายคู่ ดอกเป็นช่อห้อยลง สีเหลืองสด ผลเป็นฝักทรงกลม

การขยายพันธุ์ เมล็ด

ฝักคูนจะออกเพียงปีละหน  สมัยก่อนพบได้บ่อยตามร้านขายยาจะมีโอ่งเพื่อเก็บเนื้อของฝักคูนไว้ประกอบตำรับยาระบาย แก้ท้องผูก เวลาเก็บรักษาเนื้อในฝักคูนจะเก็บไว้เหมือนมะขามเปียก คือ คลุกเกลือเพื่อไม่ให้เนื้อมีสีดำและเก็บไว้ในโอ่งปิดฝาให้มิดชิด   พระภิกษุสงฆ์มักจะมีกระปุกฝักคูนไว้ชงน้ำร้อนนำมาฉันเป็นยาระบายและยาบำรุงร่างกายไปในตัว แสดงให้เห็นว่าคนไทยโบราณถือว่าการขับถ่ายเป็นเรื่องสำคัญ

คนไทยนิยมใช้เนื้อในฝักคูนมากกว่าใบหรือดอกในการเป็นยาระบาย  ทั้งที่ใบและดอกมีฤทธิ์แรงกว่า ก็เพราะเนื้อในของฝักเป็นยาระบายที่ไม่รุนแรงใช้ได้ทั้งเด็ก คนท้อง คนแก่ ทั้งยังมีสรรพคุณในการบำรุงร่างกาย คูนเป็นยาเย็นใช้ช่วยการขับถ่ายในคนป่วยที่มีไข้  คือ เวลามีไข้ก็ก็กินฝักคูนเพื่อระบายความร้อนและพิษที่มีอยู่ในลำไส้ออกมา ในทางวิชาการมีรายงานพบว่าคูนมีฤทธิ์ลดไข้ได้ด้วย คูนยังใช้เพื่อถ่ายพรรณดึกหรือเมือกที่สะสมของเสียที่ตกค้างอยู่ โดยเฉพาะในคนที่ป่วยเป็นอัมพฤกษ์อัมพาต มักจะใช้ฝักคูนเป็นยาถ่ายร่วมด้วยเสมอ  (เนื้อในดิบของคูนจะทำให้ถ่ายได้แรงกว่าเอาไปต้ม)

ส่วนการที่คนไทยใช้คูนเป็นยาบำรุงร่างกายด้วยนั้น ก็มีงานวิจัยสนับสนุนโดยพบว่า ในผลหรือเนื้อในของฝักคูนเป็นแหล่งของสารอาหารต่างๆ เช่นโปแตสเซียม แคลเซียม เหล็ก และแมงกานีส มากกว่าผลไม้อื่นๆ  ไม่ว่าจะเป็นแอปเปิ้ล แอปริคอต พีช ลูกแพร์ และส้ม นอกจากนี้ยังประกอบด้วยโปรตีน  คาร์โบไฮเดรต และมีโอสถสารที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระอีกด้วย จึงถือเป็นอาหารเสริมชั้นเยี่ยม ด้วยเหตุนี้ ใครที่กินฝักคูนเป็นยาระบายจะไม่รู้สึกเพลียเหมือนกับการกินยาระบายทั่วไป

ฤทธิ์การเป็นยาระบายของฝักคูนเกิดจากสารพวกแอนทราควิโนน คล้ายกับที่พบในมะขามแขก ชุมเห็ดเทศ ซึ่งช่วยกระตุ้นให้ลำไส้ใหญ่เคลื่อนไหวมากขึ้น แต่มะขามแขกและชุมเห็ดเทศออกฤทธิ์ระบายแรงกว่าซึ่งอาจทำให้มวนท้องได้ นอกจากนี้เนื้อในฝักคูนยังมีสารพวกเพกตินที่เป็นอาหารของโปรไบโอติกส์ในลำไส้ รวมทั้งมีรสเปรี้ยวอ่อนๆ ช่วยละลายเมือกที่ค้างอยู่ในลำไส้ คูนจึงเป็นยาในอุดมคติเหมาะจะใช้เป็นยาระบายสำหรับคนทุกเพศทุกวัย

ตำรับยา

ยาระบาย

ใบคูน 2 ก้าน ชงน้ำกินเป็นยาระบาย หรือใช้เนื้อในฝักคูนกินประมาณ 2 ข้อนิ้วกลาง ชงน้ำ กินเป็นยาระบาย

ยาถ่าย

เนื้อในฝักคูนกับมะขาม อย่างละ 1 ข้อ เท่ากันแช่น้ำตอนเย็น กรองน้ำที่แช่มาดื่มก่อนนอน 1 แก้ว ตอนเช้าท้องจะถ่าย

ยาล้างลำไส้

ยาล้างลำไส้หรือล้างพรรณดึก เป็นยาปรับธาตุหรือยาหมู่ที่ใส่ยาระบายลงไปด้วยขึ้นกับธาตุหนักธาตุเบา ซึ่งคนธาตุหนักจะมีปัญหาถ่ายยาก ท้องผูกบ่อย ในส่วนของยาหมู่หลักๆ จะเป็นตรีผลา (สมอพิเภก สมอไทย มะขามป้อม) ขมิ้นชัน เครื่องเทศที่ช่วยย่อย เช่น ขมิ้นชันหรือขมิ้นอ้อย ลูกผักชี พริกไทย ขิง สะค้าน แล้วแต่จะหาอะไรได้ในแต่ละท้องถิ่น

ส่วนผสม

มะขามป้อม 45 กรัม สมอไทย 30 กรัม ฝักคูน 30 กรัม สมอพิเภก 15 กรัม เทียนขาว 15 กรัม ขมิ้นชัน 15 กรัม     พริกไทยดำ 15 กรัม มะขามแขก 15 กรัม ขิง 15 กรัม ดีปลี 15 กรัม มะขามเปียก 15 กรัม

วิธีทำ

นำสมุนไพรทั้งหมดใส่ลงในหม้อ เติมน้ำท่วมยา ต้ม 3 เอา 1 จึงนำมาใช้ หากต้องการทำเป็นลูกกลอน ให้นำผงสมุนไพร ตรีผลา ชุมเห็ดเทศ (หรือมะขามแขก หรือใบคูน) ผสมกับน้ำที่ได้จากการต้มยา และน้ำผึ้ง ปั้นเป็นลูกกลอน

วิธีใช้

ยาลูกกลอน รับประทานครั้งละ 4-5 เม็ด

ยาน้ำ รับประทานครั้งละ 2-3 ช้อนโต๊ะ วันละ 1 ครั้ง ก่อนนอน หรือก่อนอาหารเช้า