คปภ. ติวเข้ม !! ระบบการประเมินความเสี่ยงและความมั่นคงทางการเงิน ของบริษัทประกันภัยตามกติกาสากล เพื่อยกระดับคุณภาพการบริหารความเสี่ยง ให้บริษัทประกันภัยไทย

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เป็นประธานเปิดงานสัมมนา “แนวทางการประเมินความเสี่ยงและความมั่นคงทางการเงินของบริษัท (ORSA)” เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2561 ณ ห้องเลอ คองคอร์ด บอลรูม ชั้น 2 โรงแรมสวิส โซเทล เลอ คองคอร์ด กรุงเทพฯ โดยเปิดเผยว่า การจัดงานครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ ERM/ORSA ให้กับบริษัทประกันภัย และชี้แจงแนวทางการกำกับการประเมินความเสี่ยงและความมั่นคงทางการเงิน (ORSA) ข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นของภาคธุรกิจที่มีต่อ Consultation Paper และผลการทดสอบ ORSA รวมถึงแนวทางการบังคับใช้ ERM/ORSA ให้กับบริษัทประกันภัย โดยมีผู้บริหารระดับสูงและผู้แทนจากภาคธุรกิจบริษัทประกันภัยเข้าร่วมสัมมนากว่า 200 คน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสำนักงาน คปภ. ได้ดำเนินการพัฒนากรอบและแนวทางการประเมินความเสี่ยงและความมั่นคงทางการเงินของบริษัท (ORSA) เพื่อเสริมสร้างการกำกับความมั่นคงทางการเงินของบริษัทประกันภัย และเตรียมความพร้อมเข้าสู่การประเมินภาคการเงินภายใต้โครงการ Financial Sector Assessment Program (FSAP) ในส่วนของมาตรฐานการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย ฉบับที่ 16: การบริหารจัดการความเสี่ยงแบบองค์รวมเพื่อความมั่นคงทางการเงิน (ICP 16: Enterprise Risk Management for Solvency Purposes) ซึ่งสำนักงาน คปภ. เริ่มต้นพัฒนาโครงการ ORSA ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2560 โดยได้ดำเนินการจ้าง บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท เซอร์วิสเซส จำกัด เป็นที่ปรึกษาโครงการฯ เพื่อให้คำแนะนำเชิงเทคนิคสำหรับการพัฒนาแนวทางการกำกับ ERM และ ORSA โดยผลการศึกษาจากโครงการพัฒนาแนวทางการประเมินความเสี่ยงและความมั่นคงทางการเงินของบริษัท (Own Risk Solvency Assessment : ORSA) มีวัตถุประสงค์หลักในการสร้างเครื่องมือและกระบวนการดำเนินการภายในบริษัทที่จะเข้ามาช่วยเติมเต็มช่องว่าง ให้การบริหารความเสี่ยงของบริษัท มีประสิทธิภาพสามารถก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มในการดำเนินธุรกิจและทำให้การบริหารความเสี่ยงผูกโยงเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินในเชิงกลยุทธ์ได้อย่างแท้จริง อีกทั้งเพื่อสร้างการบริหารจัดการความเสี่ยงของบริษัทประกันภัย ให้เป็นระบบ โดยมีการระบุบทบาท หน้าที่ความรับผิดชอบ และขั้นตอนการดำเนินการของผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการทั้งหมดอย่างชัดเจน เมื่อบริษัทต้องเผชิญกับความเสี่ยง และเพื่อเชื่อมโยงการบริหารความเสี่ยง เข้ากับแผนธุรกิจ โดยเน้นมุมมองและความเสี่ยงที่ต้องเผชิญในอนาคตมากยิ่งขึ้น (Forward-looking) รวมถึงเพื่อเชื่อมโยงการบริหารความเสี่ยงเข้ากับแผนการบริหารจัดการเงินกองทุน เพื่อให้บริษัทมีการเตรียมการวางแผนทางการเงินเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ในทุกสถานการณ์

สำหรับความคืบหน้าการพัฒนาแนวทางการประเมินความเสี่ยงและความมั่นคงทางการเงินของบริษัทประกันภัย (ORSA) แบ่งเป็น 5 ด้าน ดังนี้

ด้านแรก คือ การจัดทำร่างสารัตถะการประเมินความเสี่ยงและความมั่นคงทางการเงินของบริษัท ได้จัดทำแนวทางการประเมินความเสี่ยงและความมั่นคงทางการเงินของบริษัท (ORSA) ในรูปแบบของ Consultation paper ร่วมกับที่ปรึกษาโครงการฯ โดยสามารถสรุปแนวทางการประเมินความเสี่ยงและความมั่นคงทางการเงินของบริษัท (ORSA) ในเบื้องต้น ประกอบด้วย 1) กรอบและกระบวนการบริหารความเสี่ยง 2) นโยบายการบริหารความเสี่ยง (Risk Management Policy) 3) การเชื่อมโยงระหวางความเสี่ยงกลยุทธและเงินกองทุน (Linkage between Risk, Strategy and Capital) 4) ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (Risk Appetite) 5) ความเสี่ยงและการระบุความเสี่ยง (Risk Exposure and Identification) 6) การทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Testing) และการคาดการณการทางธุรกิจ (Business Projection) 7) การประเมินความมั่นคงทางการเงิน (Solvency Assessment) และการจัดการเงินกองทุนและเงินกองทุนขั้นต่ำที่บริษัทประกันภัยตองดํารงไว้ (Capital Requirement and Management) และ 8) การรายงานความเสี่ยงและการจัดการขอมูล คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงและหนวยงานบริหารความเสี่ยงควรรายงานผลการบริหารความเสี่ยง ต่อคณะกรรมการและผูบริหารระดับสูงของบริษัทอยางนอยทุกไตรมาส และจัดทํารายงาน ORSA นำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

ด้านที่สอง คือ การทดสอบการประเมินความเสี่ยงและความมั่นคงทางการเงินของบริษัท (ORSA) สำนักงาน คปภ. กำหนดให้บริษัทประกันภัยทุกแห่งเข้าร่วมการทดสอบการประเมินความเสี่ยงและความมั่นคงทางการเงินของบริษัท (ORSA) ตามรูปแบบและวิธีการที่กำหนด และจัดทำ Market survey เพื่อสำรวจความพร้อมของบริษัทประกันภัยที่มีต่อกรอบและกระบวนการ ERM/ORSA ซึ่งกำหนดให้นำส่งผลการทดสอบภายในสิ้นเดือนมีนาคม 2561 ที่ผ่านมา โดยบริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัยให้ความร่วมมือในการจัดทำรายงานการทดสอบ ORSA ในครั้งนี้เป็นอย่างดี และผลสำรวจการเตรียมความพร้อมของบริษัทประกันภัยที่มีต่อกรอบ ERM/ORSA พบว่าบริษัทประกันภัยส่วนใหญ่มีความพร้อมในการดำเนินการตามกรอบและแนวทางการกำกับ ERM/ORSA ตามที่สำนักงาน คปภ. เสนอ ภายในระยะเวลา 1-2 ปี

ด้านที่สาม คือ การพัฒนาองค์ความรู้ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ ORSA ให้กับบริษัทประกันภัย เพื่อให้บริษัทประกันชีวิตและวินาศภัยเข้าใจหลักการและความสำคัญของ ORSA และสามารถจัดทำรายงานการทดสอบ ORSA ได้ตรงตามความคาดหวังของสำนักงาน คปภ. นอกจากนี้ได้ดำเนินการจัดสัมมนาสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ ORSA ให้กับอุตสาหกรรมประกันภัยอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา
ณ สมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทย โดยมีเนื้อหาครอบคลุมกรอบและกระบวนการบริหารความเสี่ยง นโยบายการบริหารความเสี่ยง การทดสอบภาวะวิกฤต การประเมินความมั่นคงทางการเงินของบริษัท การเชื่อมโยงระหว่างความเสี่ยง กลยุทธ์องค์กร และการบริหารจัดการเงินกองทุน รวมถึงการประเมินความถูกต้องของกรอบ ORSA อย่างมีประสิทธิภาพ

ด้านที่สี่ คือ การพัฒนาคู่มือการวิเคราะห์และติดตามความเหมาะสมของกระบวนการ ORSA และจัดอบรมเตรียมความพร้อมให้กับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ในด้านกำกับและด้านตรวจสอบ สำนักงาน คปภ. ได้พัฒนาคู่มือการติดตามและวิเคราะห์ความเหมาะสมของกระบวนการ ORSA ร่วมกับที่ปรึกษาโครงการฯ โดยแบ่งขั้นตอนการวิเคราะห์และติดตามออกเป็น 2 ระยะ ดังนี้

ระยะแรก การตรวจสอบความสมบูรณ์ของรายงาน ORSA โดยผู้วิเคราะห์ดำเนินการตรวจสอบความสมบูรณ์ของรายงาน ORSA ในแต่ละหัวข้อของรายงาน ทั้งนี้ ผู้วิเคราะห์ควรประเมินและให้คะแนนแต่ละหัวข้อ โดยอาจแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้ สีแดง คือ หากพบว่าข้อมูลในส่วนที่สำคัญขาดหายไปหรืออธิบายครอบคลุมเพียงแค่บางส่วน สีเหลือง คือ หากพบว่าบริษัทยังอธิบายไม่เพียงพอและมีความจำเป็นต้องให้มีการอธิบายข้อมูลเพิ่มเติม และ/หรือ ไม่ครบถ้วนตามข้อกำหนดของ ERM/ORSA และสีเขียว คือ ข้อมูลที่ระบุไว้เพียงพอและครบถ้วนตามข้อกำหนดของ ERM/ORSA

ระยะที่สอง การประเมินประสิทธิภาพของกรอบ ERM/ORSA ภายหลังจากการตรวจสอบความสมบูรณ์ของรายงาน ORSA ในระยะที่ 1 แล้ว ผู้วิเคราะห์จัดส่งรายงานการตรวจสอบความสมบูรณ์ของรายงาน ORSA ให้กับผู้ตรวจสอบ เพื่อประเมินประสิทธิภาพของกรอบ ERM/ORSA ของบริษัท ณ ที่ทำการ ทั้งนี้ ผู้ตรวจสอบอาจให้คะแนนแต่ละหัวข้อ โดยแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ สีแดง คือ หากพบว่า ไม่มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงการนำกรอบ ERM/ORSA ไปปฏิบัติจริง สีเหลือง คือ หากพบว่า หลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงการ นำกรอบ ERM/ORSA ไปปฏิบัติจริง ตามที่ระบุไว้ในรายงาน ERM/ORSA มีอยู่อย่างจำกัดหรือไม่ครบถ้วน และ สีเขียว คือ มีหลักฐานเพียงพอที่แสดงว่า บริษัทได้นำกรอบ ERM/ORSA ไปปฏิบัติจริง ตามที่ระบุ ไว้ในรายงาน ERM/ORSA

ด้านที่ห้า คือ การจัดทำร่างประกาศว่าด้วยเรื่องการบริหารความเสี่ยงแบบองค์รวม (ERM) และการประเมินความเสี่ยงและความมั่นคงทางการเงินของบริษัท (ORSA) ซึ่งสำนักงาน คปภ. อยู่ระหว่างการจัดทำร่างสารัตถะของประกาศว่าด้วยเรื่องการบริหารความเสี่ยงแบบองค์รวม (ERM) และการประเมินความเสี่ยงและความมั่นคงทางการเงินของบริษัท (ORSA) ร่วมกับที่ปรึกษาโครงการฯ โดยพิจารณาจากข้อเสนอแนะ/ข้อคิดเห็นต่อ ORSA consultation paper และแบบสอบถามการเตรียมความพร้อมที่มีต่อกรอบและกระบวนการ ERM/ORSA ของบริษัทประกันภัย เพื่อจัดทำร่างประกาศ ERM/ORSA ที่เหมาะสมกับบริบทของธุรกิจประกันภัยในประเทศไทย และสอดคล้องกับมาตรฐานการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย ฉบับที่ 16: การบริหารจัดการความเสี่ยงแบบองค์รวมเพื่อความมั่นคงทางการเงิน (ICP 16: Enterprise Risk Management for Solvency Purposes)
ก่อนนำเสนอคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยต่อไป

เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า การบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดี สามารถขับเคลื่อนให้ธุรกิจประกันภัยเจริญเติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยได้ฝากข้อคิดบนพื้นฐานความพร้อมของการดำเนินธุรกิจไว้ 3 ประการ ได้แก่ คนพร้อม คือ บุคลากรที่เข้าใจด้านความเสี่ยง ผู้บริหารตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารความเสี่ยง บริษัทมีนโยบายสร้างวัฒนธรรมความเสี่ยง (risk culture) ให้เกิดขึ้นในองค์กร ระบบงานพร้อม คือ มีระบบงานที่พร้อม เหมาะสมกับสภาพ ขนาด ความซับซ้อนของบริษัท โดยเชื่อมโยงความเสี่ยงของทุกหน่วยธุรกิจและสามารถนำมาบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ ข้อมูลพร้อม คือ มีการเก็บข้อมูลความเสี่ยงที่ดี น่าเชื่อถือ และ สอบทานได้ ก่อให้เกิดการนำข้อมูลไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

“สำนักงาน คปภ. จะมุ่งเน้นการบริหารความเสี่ยงในลักษณะ Forward Looking โดยผลการศึกษาจากโครงการพัฒนาแนวทางการประเมินความเสี่ยงและความมั่นคงทางการเงินของบริษัท (Own Risk Solvency Assessment : ORSA) เพื่อสร้างเครื่องมือและกระบวนการดำเนินการภายในบริษัทที่จะเข้ามาช่วยเติมเต็มช่องว่าง ให้การบริหารความเสี่ยงของบริษัทมีประสิทธิภาพสามารถก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มในการดำเนินธุรกิจและทำให้การบริหารความเสี่ยงผูกโยงเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินในเชิงกลยุทธ์ได้อย่างแท้จริง กล่าวคือ การสร้างการบริหารจัดการความเสี่ยงของบริษัทประกันภัยให้เป็นระบบ โดยมีการระบุบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบ และขั้นตอนการดำเนินการของผู้ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการทั้งหมดอย่างชัดเจน เมื่อบริษัทต้องเผชิญกับความเสี่ยง การเชื่อมโยงการบริหารความเสี่ยงเข้ากับแผนธุรกิจ โดยเน้นมุมมองและความเสี่ยงที่ต้องเผชิญในอนาคตมากยิ่งขึ้น (Forward-looking) และเชื่อมโยงการบริหารความเสี่ยงเข้ากับแผนการบริหารจัดการเงินกองทุนเพื่อให้บริษัทมีการเตรียมการวางแผนทางการเงินเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ใน ทุกสถานการณ์ ซึ่งโครงการนี้จะช่วยปิดช่องว่างระหว่างกฎระเบียบของสำนักงาน คปภ. และเกณฑ์การกำกับ ในเรื่องการบริหารความเสี่ยงและความมั่นคงทางการเงินตามมาตรฐาน ICP เพื่อยกระดับการกำกับดูแลของ สำนักงาน คปภ. ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย