กกจ. เร่งปรับปรุงการจัดประเภทมาตรฐานอุตสาหกรรม(ประเทศไทย) และการจัดประเภทมาตรฐานอาชีพ (ประเทศไทย)

กรมการจัดหางาน  เผย การจัดประเภทมาตรฐานอุตสาหกรรม(ประเทศไทย) และการจัดประเภทมาตรฐานอาชีพ (ประเทศไทย) คืบ หลังตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาแก้ไข

นายสุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน ในฐานะกรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการที่ปรึกษาเพื่อปรับปรุงการจัดประเภทมาตรฐานอาชีพและอุตสาหกรรม  กล่าวว่า ขณะนี้การปรับปรุงการจัดประเภทมาตรฐานอาชีพและอุตสาหกรรม มีความคืบหน้าขึ้น เนื่องจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบให้กระทรวงแรงงาน แต่งตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาเพื่อปรับปรุงการจัดประเภทมาตรฐานอาชีพและอุตสาหกรรม โดยแต่งตั้งปลัดกระทรวงแรงงานเป็นประธาน มีผู้แทนจากกระทรวงต่างๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 34 คน เป็นคณะกรรมการ และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาแก้ไขร่างนิยามอาชีพและอุตสาหกรรมเฉพาะสาขา จำนวน 31 สาขา เพื่อพิจารณาแก้ไขร่างฯ ให้ทันสมัยและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล รวมทั้งให้ข้อคิดเห็นแก้ไขปัญหาอุปสรรค ข้อเสนอแนะในการเขียนร่างนิยาม เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นายสุชาติฯ กล่าวอีกว่า การจัดทำประเภทมาตรฐานอาชีพประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อการบริหารจัดการด้านแรงงาน และการจัดเก็บสถิติเศรษฐกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนได้มีความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกันในเรื่องอาชีพ มีระบบฐานข้อมูลเดียวกัน สามารถนำข้อมูลไปใช้อ้างอิงเปรียบเทียบได้ ทั้งในระดับหน่วยงานและในระดับประเทศ การจัดประเภทมาตรฐานอาชีพประเทศไทยใช้หลักเกณฑ์การจัดแบ่งหมวดหมู่ และกำหนดรหัสตามการจัดประเภทมาตรฐานอาชีพสากล (International Standard Classification of Occupations : ISCO) ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization : ILO) ซึ่งประเทศไทยได้จัดทำประเภทมาตรฐานอาชีพมาแล้วจำนวน 2 ครั้ง

ส่วนการปรับปรุงการจัดประเภทมาตรฐานอาชีพ (ประเทศไทย) ของกรมการจัดหางาน ขณะนี้ได้ดำเนินการไปแล้ว 2,189 อาชีพ 16 สาขา ได้แก่ สาขาการผลิตทางเภสัชกรรม สมุนไพร และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง สาขาสาธารณสุขและงานที่เกี่ยวข้อง สาขาการเจียระไนเพชรพลอยและการทำเครื่องประดับที่มีค่าอื่นๆ สาขาการสื่อสารและไปรษณีย์ สาขาเทคโนโลยีดิจิทัล สาขาการผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์ วงจรอิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ทางทัศนศาสตร์ สาขาการผลิตและจำหน่ายยานยนต์ สาขาการศึกษา สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าทางอากาศ สาขาการทำเหมืองแร่ เหมืองหินและการขุดเจาะทรัพยากรธรรมชาติ สาขาสิ่งทอและเครื่องแต่งกาย สาขาเกษตรกรรม ป่าไม้และการประมง สาขาการผลิตผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าทางบก สาขาวิชาชีพนักสถิติ นักคำนวณ นักบัญชีและนักเศรษฐศาสตร์ และสาขาผลิตโลหะและผลิตภัณฑ์โลหะที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ ยังได้ปรับปรุงการจัดประเภทมาตรฐานอุตสาหกรรม (ประเทศไทย) ปี 2552 คือ หมวด A เกษตรกรรม การป่าไม้ และการประมง จำนวน 1,002 กิจกรรม หมวด J ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร จำนวน 473 กิจกรรม หมวด P การศึกษา จำนวน 36 กิจกรรม หมวด Q กิจกรรมด้านสุขภาพและงานสังคมสงเคราะห์ จำนวน 177 กิจกรรม และหมวด R ศิลปะ ความบันเทิง และนันทนาการ จำนวน 314 กิจกรรม  รวมทั้งสิ้น 2,002 กิจกรรม

“การจัดประเภทมาตรฐานอุตสาหกรรม (ประเทศไทย) ปี 2552 และการจัดประเภทมาตรฐานอาชีพ (ประเทศไทย) จะเป็นประโยชน์กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ได้เข้าใจถูกต้องตรงกันเรื่องอุตสาหกรรมและอาชีพ และนำรหัสตามมาตรฐานอุตสาหกรรมและมาตรฐานอาชีพไปใช้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อสามารถนำไปวิเคราะห์และนำข้อมูลอุตสาหกรรมและอาชีพ ไปใช้ประโยชน์ด้านต่างๆที่เกี่ยวกับการบริหารงานด้านแรงงาน”นายสุชาติฯ กล่าว

………………………..