รมช.พาณิชย์ ควงแขน SACICT – DIP ประสานความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญา ผลักดันหัตถศิลป์ไทยสู่ GI Crafts

“วีรศักดิ์” ให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองและปกป้องสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาในงานศิลปหัตถกรรมไทย จัดเวทีลงนาม MOU ระหว่างศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา หรือ DIP ขับเคลื่อนด้านการคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรม พร้อมผลักดัน GI Crafts งานหัตถศิลป์ท้องถิ่นที่บ่งบอกถึง อัตลักษณ์ และแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรม เพื่อให้เกิดการยอมรับ และสร้างมูลค่าเพิ่มได้

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า เมื่อช่วงปลายปี 2562 ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสเดินทางไปลงพื้นที่ร่วมกิจกรรมการประชุมเครือข่ายผู้ผลิตงานหัตถศิลป์ หรือ SACICT CRAFT NETWORK ในภูมิภาคต่างๆ นั้น ได้พบกับกลุ่มชาวบ้านและครูผู้สร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมไทยมากมาย ได้เห็นถึงชิ้นงานหัตถศิลป์ที่สร้างมาจากภูมิปัญญาชาวบ้าน มีความประณีต สวยงาม ทรงคุณค่า และมีเสน่ห์ในความเป็นไทย จึงนับเป็นโอกาสดีที่จะสร้างการรับรู้และเชิญชวนให้กลุ่มครูที่ผลิตชิ้นงานสวยๆ เป็นอัตลักษณ์พื้นถิ่น ได้เห็นถึงความสำคัญต่อการรักษาภูมิปัญญาเชิงช่างเหล่านี้ไว้ให้เป็นสมบัติของคนไทยในอนาคต จึงให้ SACICT และ DIP ดำเนินการเพื่อหาแนวทางในการพัฒนากลุ่มงานศิลปหัตถกรรมให้สามารถจดสิทธิบัตรได้เพิ่มมากขึ้น จึงนำมาสู่การจัดพิธีลงนามความร่วมมือระหว่างศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา ในงานอัตลักษณ์แห่งสยาม ครั้งที่ 11 ที่ผ่านมา ณ ไบเทค บานา เพื่อร่วมมือส่งเสริมให้ผู้ผลิตงานศิลปหัตถกรรมที่เป็นเครือข่ายและสมาชิก SACICT ได้มีความรู้และตระหนักถึงความสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญา และสามารถเข้าสู่ระบบการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลอดจนร่วมมือกันในการคุ้มครองและปกป้องสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเป็นรูปธรรม เช่น การส่งเสริมการจดทะเบียนสิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า การแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ หรือการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ รวมถึงการให้คำปรึกษาและความร่วมมือในด้านการตรวจสอบเพื่อจดทะเบียน ตลอดจนส่งเสริมการใช้ประโยชน์ทรัพย์สินทางปัญญาในเชิงพาณิชย์ต่อไปได้

นอกจากนี้ ยังให้ความร่วมมือด้านการพัฒนาต่อยอดงานศิลปหัตถกรรมที่เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI Crafts ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมที่สร้างสรรค์ขึ้นจากอัตลักษณ์ของแหล่งผลิตท้องถิ่นที่มีความพิเศษเฉพาะตัว มีคุณภาพ และมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป โดยจุดเด่น และเอกลักษณ์เฉพาะพื้นถิ่นที่ผสมผสานกับองค์ความรู้ และภูมิปัญญาที่เรียนรู้ สืบทอดต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบัน สะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าและลักษณะเฉพาะของผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมที่เกี่ยวข้อง และเชื่อมโยงกับภูมิศาสตร์ของท้องถิ่นนั้นๆ

ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI Crafts จึงเปรียบเสมือนแบรนด์ท้องถิ่นที่บ่งบอกถึงคุณภาพ อัตลักษณ์ รวมทั้งแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรม ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรม ให้ได้รับการยอมรับในระดับสากลต่อไป

…………………………………………