เตือนซ้ำ !! ยาผงจินดามณี ยาหมอทหาร อ้างสรรพคุณเว่อร์ สวมเลข อย.

เตือนซ้ำ !! ยาผงจินดามณีและยาหมอทหาร อวดสรรพคุณเว่อร์ รักษาสารพัดโรค สวมเลข อย.ลวงให้เข้าใจผิดว่าได้รับอนุญาตแล้ว โดย อย.และ สสจ. เคยจับกุมผู้ขายยาทั้งสองชนิดนี้แล้ว ในปี 2560 และ 2561 แต่พบการระบาดซ้ำ ย้ำอย่าหลงเชื่อโดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ อาจได้รับอันตรายจากสเตียรอยด์ถึงขั้นเสียชีวิตได้

เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่เพจหมอแล็บแพนด้า และ Drama-addict ได้แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับยาผงจินดามณี (ยาผีบอก) และยาหมอทหาร มีเลข อย. บนผลิตภัณฑ์เหมือนกันทั้งคู่ ซึ่งเป็นเลข อย. ของผลิตภัณฑ์อาหารยี่ห้อหนึ่งนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอย้ำเตือนว่า ยาผงจินดามณีและยาหมอทหาร เป็นยาที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง และเป็นยาที่ไม่ได้รับอนุญาตจาก อย. โดย อย. และ สสจ. ได้ดำเนินการจับกุมผู้ลักลอบจำหน่ายยาทั้งสองชนิดนี้หลายครั้งเมื่อปี 2560 และ 2561 หลังจากสืบทราบว่า ยาทั้ง 2 ชนิดนี้ถูกลักลอบนำเข้ามาตามแนวชายแดนและระบาดในแถบจังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และ ภาคตะวันตก และมีผู้ได้รับผลกระทบจากการรับประทานยาดังกล่าว ซึ่ง อย. ได้ออกข่าวแจ้งเตือนประชาชนมาโดยตลอด ในปีนี้พบการระบาดซ้ำอีกครั้ง จึงขอย้ำให้ผู้บริโภค โดยเฉพาะผู้สูงอายุควรระมัดระวังเป็นพิเศษ อย่าหลงเชื่อซื้อยาดังกล่าวมารับประทานโดยเด็ดขาด เนื่องจากยาเหล่านี้ อย. เคยตรวจพบการปลอมปนยาสเตียรอยด์ เพื่อให้ผู้ใช้เห็นผลทันใจ ทั้งนี้ ยาสเตียรอยด์จัดเป็นยาควบคุมพิเศษต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น เพราะเป็นยาที่มีผลข้างเคียงสูง หากรับประทานเข้าไปในปริมาณมาก ทำให้เกิดการติดเชื้อโรคได้ง่ายเยื่อบุกระเพาะอักเสบ อาจถึงขั้นกระเพาะทะลุ กระดูกผุ ภูมิคุ้มกันลดลง ไตวาย บางรายถึงขั้นเสียชีวิตได้

รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวต่อไปว่า ขอย้ำเตือนซ้ำไปยังผู้บริโภคทุกท่านอย่าได้หลงเชื่อซื้อยาแผนโบราณที่ไม่มีเลขทะเบียนตำรับยาฉลากแสดงสรรพคุณโอ้อวดเกินจริง หรือซื้อยาจากแหล่งจำหน่ายที่ไม่น่าเชื่อถือ เพราะอาจได้รับยาที่มีการผลิตไม่ถูกสุขลักษณะ ยาไม่มีคุณภาพมาตรฐานทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายต่อร่างกายได้ ขอให้ผู้บริโภคซื้อยาแผนโบราณที่ได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยสังเกตฉลากต้องมีเลขทะเบียนตำรับยาบนฉลาก ก่อนซื้อควรตรวจสอบให้ชัดเจนว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตจาก อย. แล้ว ผ่านทาง 4 ช่องทาง คือ Line และ Facebook FDA Thai, Oryor Smart Application เว็บไซต์ อย. www.fda.moph.go.th/ และ www.oryor.com/โดยต้องตรวจสอบชื่อผลิตภัณฑ์และเลขที่อนุญาตให้ตรงกันด้วยในกรณียาทั้งสองชนิดดังกล่าวบนฉลากไม่ใช่เลขทะเบียนตำรับยาเป็นเลขสารบบอาหารของผลิตภัณฑ์อาหารยี่ห้อหนึ่ง ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย จัดเป็นยาเถื่อนหากผู้บริโภคพบเห็นยาต้องสงสัยที่มีการโฆษณาโอ้อวดสรรพคุณหรือฉลากไม่ได้แสดงเลขทะเบียนตำรับยา หรือเป็นเลขที่ไม่ถูกต้อง ขอให้ร้องเรียนมายังสายด่วน อย. 1556 หรือผ่าน Oryor Smart Application เพื่อ อย. จะได้เร่งตรวจสอบดำเนินการตามกฎหมายแก่ผู้กระทำผิด

รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวในตอนท้ายว่า เตือนผู้ผลิตและขายยาต้องมีคุณธรรม จริยธรรม อย่าลักลอบผลิตและขายยาโดยไม่รับอนุญาต หลอกลวงผู้บริโภคเด็ดขาด หาก อย. ตรวจพบจะดำเนินการกับผู้กระทำผิดอย่างเข้มงวด มีโทษทั้งจำคุกและปรับอย่างสูงสุด ดังนี้

ผู้ผลิต

ผลิตยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุก ไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท
ผลิตยาแผนโบราณโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุก ไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 5,000 บาท
ผลิตยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับ มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท
ผลิตยาปลอม มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึงตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 10,000 บาท ถึง 50,000 บาท
โฆษณาขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท

ผู้จำหน่าย

ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุก ไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท
ขายยาแผนโบราณโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุก ไม่เกิน 3 ปี และปรับไม่เกิน 5,000 บาท
ขายยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับ มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท
ขายยาปลอม มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 10,000 บาท
โฆษณาขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท

—วันที่เผยแพร่ข่าว 6 กุมภาพันธ์ 2563