ชป.ควบคุมความเค็มเจ้าพระยา ไม่ให้กระทบน้ำผลิตประปา

กรมชลประทาน ดำเนินการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ ไล่ค่าความเค็มที่รุกตัวในลุ่มน้ำเจ้าพระยาเต็มกำลัง ทำให้ค่าความเค็มโดยรวมทรงตัว-เพิ่มขึ้นบ้างเล็กน้อย ยังสามารถควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดได้

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึง สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) ปัจจุบัน(6 ก.พ. 63)มีปริมาณน้ำรวมกัน 10,340 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 42 ของความจุอ่างฯรวมกัน มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 3,644 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน

กรมชลประทาน ได้ดำเนินการบริหารจัดการน้ำเพื่อผลักดันค่าความเค็มที่รุกตัวในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทำให้สถานการณ์ค่าความเค็มโดยรวมยังคงทรงตัวถึงเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ทั้งนี้ สามารถควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดได้ การบริหารจัดการน้ำเพื่อควบคุมค่าความเค็มในลุ่มน้ำเจ้าพระยา นอกจากการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์ ซึ่งคงระบายน้ำวันละประมาณ 18 ล้าน ลบ.ม. นั้น ปัจจุบัน(6 ก.พ. 63)ยังดำเนินการผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองผ่านประตูระบายน้ำสองพี่น้อง 36 ลูกบากศ์เมตรต่อวินาที(ลบ.ม./วินาที) ประตูระบายน้ำบางปลา 26 ลบ.ม./วินาที มายังแม่น้ำท่าจีน ส่วนหนึ่งใช้ผลักดันค่าความเค็มในแม่น้ำท่าจีน อีกส่วนหนึ่งลำเลียงต่อมายังแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านคลองพระยาบรรลือ คลองพระพิมล คลองประปา และคลองมหาสวัสดิ์ มารวมกับปริมาณน้ำที่ระบายผ่านเขื่อนเจ้าพระยาอัตรา 90 ลบ.ม./วินาที และจากเขื่อนพระรามหกอีก 5 ลบ.ม./วินาที ไหลผ่านสถานีวัดน้ำบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 60 ลบ.ม./วินาที เพื่อผลักดันค่าความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา นอกจากนี้ กรมชลประทานได้ร่วมมือกับการประปานครหลวง ดำเนินงานปฏิบัติการ Water Hammer Operation เป็นการเพิ่มปริมาณน้ำจืดเพื่อนำมาใช้ผลักดันและเจือจางค่าความเค็มบริเวณสถานีสูบน้ำสำแล โดยกำหนดให้หยุดสูบเป็นเวลา 2 ชั่วโมง
ในช่วงเวลาน้ำลง เพื่อจะได้มีปริมาณน้ำจืดที่มากพอสำหรับผลักดันลิ่มความเค็มให้เคลื่อนตัวออกไปไกลจากสถานีสูบน้ำสำแล ประกอบกับการปิด-เปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ และการสูบน้ำ ซึ่งได้ดำเนินการตามช่วงเวลาที่เหมาะสมตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เนื่องจากมีปริมาณน้ำจืดน้อย การที่จะนำมาดันน้ำเค็มตลอดเวลา อาจมีไม่เพียงพอจึงต้องใช้กระบวนการดังกล่าวร่วมด้วย

การควบคุมค่าความเค็ม ระดับความเค็ม หรือปัจจัยต่างๆ ในการผลิตน้ำประปา ในแต่ละพื้นที่จะไม่เท่ากันเนื่องจากบางพื้นที่อาจมีแหล่งน้ำจืดมาช่วยเจือจางที่แตกต่างกัน แต่อย่างไรก็ตาม​ ยังคงต้องควบคุมค่าความเค็มของแต่ละพื้นที่ตามเกณฑ์ที่กำหนดอย่างเข้มงวด อาทิ แม่น้ำท่าจีน สถานีปากคลองจินดา วัดได้ 0.22 กรัมต่อลิตร เกณฑ์ควบคุมสำหรับการปลูกกล้วยไม้ 0.75 กรัมต่อลิตร ปัจจุบันได้นำน้ำจากแม่น้ำแม่กลองมาช่วยผลักดันค่าความเค็มอย่างต่อเนื่อง แม่น้ำเจ้าพระยา สถานีประปาสำแล วัดได้ 0.22 กรัมต่อลิตร มาตรฐานเพื่อการผลิตน้ำประปาไม่เกิน 0.50 กรัมต่อลิตร ดำเนินการระบายน้ำและการปฏิบัติการ Water Hammer Operation ส่วนแม่น้ำปราจีน-บางปะกง สถานีปราจีนบุรี วัดได้ 0.17 กรัมต่อลิตร เกณฑ์เฝ้าระวังเพื่อการเกษตรไม่เกิน 2 กรัมต่อลิตร ซึ่งแม่น้ำปราจีน-บางปะกงจำเป็นต้องควบคุมค่าความเค็มตลอดทั้งปี โดยเฉพาะบริเวณ
ประตูระบายน้ำหาดยาง อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี เนื่องจากอยู่ในบริเวณเดียวกันกับโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จึงยิ่งต้องให้ความสำคัญในการเฝ้าระวังค่าความเค็มอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อด้านการแพทย์

*****************************

ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

6 กุมภาพันธ์ 2563