ชป.ย้ำน้ำน้อยแต่พอใช้ หากทุกฝ่ายร่วมใจกันใช้น้ำตามแผนฯอย่างเคร่งครัด

กรมชลประทาน เดินหน้าบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะอ่างฯที่มีน้ำ น้อยกว่าร้อยละ 30 ย้ำทุกโครงการชลประทาน ให้เฝ้าระวังและควบคุมการใช้น้ำให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ พร้อมวอนขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุด ลดเสี่ยงขาดแคลนน้ำในอนาคต

ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึง สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศว่า ปัจจุบัน(5 ก.พ. 63) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 43,940 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 58 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 20,158 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 39 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์)มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 10,359 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 42 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 3,663 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ของปริมาณน้ำใช้การได้ สำหรับผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2562 ทั้งประเทศ ล่าสุด(5 ก.พ. 63) มีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 8,587 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 49 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 2,486 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 62 ของแผนฯ

เนื่องจากสถานการณ์น้ำ ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าปกติ และเพื่อให้การลำเลียงน้ำจากพื้นที่ตอนบนลงมา เพื่อใช้ในการอุปโภค–บริโภค การรักษาระบบนิเวศ และผลักดันน้ำเค็ม กรมชลประทาน ได้ประสานขอความร่วมมือจากผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ให้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีสถานีสูบน้ำเพื่อการเกษตรงดสูบน้ำ พร้อมประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือจากเกษตรกรผู้ใช้น้ำ ให้ปฏิบัติตามมาตรการการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาในช่วงฤดูแล้ง ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างเคร่งครัด

“ปัจจุบันมีเขื่อนขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำใช้การได้น้อยกว่าร้อยละ 30 ของความจุอ่างฯ ทั้งหมด 17 แห่ง ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนแม่มอก เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนมูลบน เขื่อนลำแซะ เขื่อนลำนางรอง เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนทับเสลา เขื่อนกระเสียว เขื่อนคลองสียัด  เขื่อนบางพระ เขื่อนหนองปลาไหล และเขื่อนประแสร์ กรมชลประทาน จะบริหารจัดการน้ำในเขื่อนดังกล่าวอย่างเคร่งครัด ตามแผนจัดสรรน้ำที่ได้กำหนดไว้ร่วมกันกับกลุ่มผู้ใช้น้ำและกลุ่มเกษตรกรที่ใช้น้ำจากเขื่อนเหล่านี้ โดยจะเน้นการส่งน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค น้ำเพื่อผลิตประปา รักษาระบบนิเวศ และไม้ผลไม้ยืนต้น เท่านั้น เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด เพียงพอใช้ไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า ภายใต้เงื่อนไขที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุด” ดร.ทวีศักดิ์ฯ กล่าวในที่สุด

ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์