ครูตั้น นั่งหัวโต๊ะ ประชุมคณะกรรมการ กศน.ระดับชาติ เปิดฟลอร์ระดมสมองเต็มที่

นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริม สนับสนุน และประสานความร่วมมือ การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ครั้งที่ 1/2563 ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ โดยมีนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยคณะกรรมการ และข้าราชการ สำนักงาน กศน. เข้าร่วม โดยมีนายดิศกุล เกษมสวัสดิ์ เลขาธิการ กศน. เป็นฝ่ายเลขาฯ

นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ตนได้มอบนโยบายต่อที่ประชุมฯ เกี่ยวกับการบริหารจัดการพื้นที่ของโรงเรียน สพฐ. ซึ่งไม่ได้ใช้งานแล้ว เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์การเรียนรู้สำหรับคนทุกช่วงวัย (Good Learning Center) ตามแนวทางของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (นางกนกวรรณ วิลาวัลย์) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเรียนรู้นอกระบบและตามอัธยาศัยเพื่อการมีงานทำ ของสำนักงาน กศน. ในพื้นที่ต่าง ๆ โดยขอให้คณะกรรมการเสนอความคิดเห็นและออกแบบการทำงานอย่างเต็มที่ พร้อมมอบสำนักงาน กศน.หารือและประสานงานกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง ทั้งจำนวนโรงเรียนที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว การวางแผนพัฒนา และการบริหารจัดการ ตลอดจนการกำหนดเป้าหมาย ซึ่งเชื่อว่าเมื่อมีการพัฒนาภายใต้แผนงานและการบริหารจัดการที่ดี จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับคนทุกคนในชุมชน และในอนาคตอาจยกระดับไปสู่การเป็นศูนย์ของกระทรวงศึกษาธิการที่ตอบโจทย์ความต้องการและบริบทของพื้นที่ต่อไป

นอกจากนี้ รมว.ศธ. ยังกล่าวถึงแนวคิดการพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนขนาดเล็ก จากการเดินทางไปตรวจเยี่ยมโรงเรียนทั่วประเทศ ตลอดระยะเวลากว่า 5 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งพบว่ามีโรงเรียนขนาดเล็กจำนวนไม่น้อย ที่ต้องได้รับการแก้ไขปรับปรุงเรื่องคุณภาพการจัดการศึกษาโดยด่วน ในขณะเดียวกัน ก็ได้เดินทางไปศึกษาดูงานที่ต่างประเทศ ซึ่งมีความก้าวล้ำในการสร้างและพัฒนาคนให้มีศักยภาพสูง เท่าทันเทคโนโลยี และใช้ชีวิตอยู่ในสังคมที่มีการแข่งขันสูง ดังนั้น จึงต้องการสร้างคนของเราให้เก่งที่สุดในทุกมิติ เพื่อจะได้อยู่ในโลกอนาคตอย่างมีความสุข แข่งขันได้ และมีงานทำ โดยเน้นความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วนด้านการศึกษา แผนงานที่มีความชัดเจนและบูรณาการร่วมกันภายในกระทรวงศึกษาธิการก่อน จากนั้นจึงร่วมมือกับเครือข่ายการทำงานในทุกพื้นที่ตามบริบทที่ควรจะเป็นต่อไป รวมทั้งจะต้องปรับหลักสูตรการเรียนให้เหมาะกับสาขาวิชาชีพในปัจจุบัน โดยให้เด็กเรียนเฉพาะเนื้อหาที่ต้องนำไปใช้ พร้อมจัดระบบเทียบโอนวิชาอย่างมีมาตรฐานและยืดหยุ่น ตลอดจนนำนวัตกรรมและการจัดการศึกษาที่ดี ๆ มาต่อยอดและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการศึกษา อาทิ ศูนย์พัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ (ERIC) ที่ต้องสอนทักษะดิจิทัลด้วย, ครูอาสาสมัครภาษาจีน อาจจะต้องตกลงให้สอนผู้เรียน กศน. ประชาชนในหมู่บ้านและชุมชนในช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เป็นต้น

นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า การประชุมในวันนี้ เป็นนิมิตหมายที่ดีที่คณะกรรมการและผู้ทรงคุณวุฒิ ได้มาร่วมกันพิจารณาและให้ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนงานของสำนักงาน กศน.อย่างพร้อมเพรียง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเสนอให้มีการสรุปความก้าวหน้าการดำเนินงาน โครงการ และประเด็นต่าง ๆ ที่มีความสำคัญและน่าสนใจ ตามมติของการประชุมครั้งก่อนหน้า เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาและต่อยอดการทำงานได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น และในฐานะที่ดูแลรับผิดชอบการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยของ สำนักงาน กศน. และการจัดการศึกษาเอกชนของ สช. มีความยินดีน้อมรับทุกข้อเสนอแนะที่ดีและมีประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษาของคนไทยทุกคน ให้ตอบโจทย์เป้าหมายที่วางไว้ให้ได้มากที่สุด และยินดีรับข้อเสนอจากคณะกรรมการ ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ในสาขาต่าง ๆ ถือว่ามีประโยชน์ต่อการพัฒนางานของ กศน.อย่างมาก โดยจะผนึกกำลังกับทุกภาคส่วนตามข้อแนะนำของที่ประชุม ทั้งภายในกระทรวงศึกษาธิการเอง ตั้งแต่สถานศึกษาเอกชนนอกระบบ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในเรื่องการขอใช้โรงเรียนที่ไม่ใช้งานแล้ว สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการและสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา เกี่ยวกับอัตรากำลังและมาตรฐานการพัฒนาครู กศน. ตลอดจนแสวงหาเครือข่ายความร่วมมือเพิ่มเติม โดยยึดประโยชน์ของประชาชนตามบริบทของพื้นที่เป็นหลัก เพื่อช่วยเสริมเติมเต็มทรัพยากร องค์ความรู้ เทคนิควิธีการ และด้านอื่น ๆ ที่จะช่วยพัฒนางาน กศน.ให้เจริญก้าวหน้ามากขึ้น อย่างไรก็ตาม มีข้อเสนอแนะในหลายประเด็นที่มีความสอดคล้องกับนโยบายเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของ กศน. WOW WOW ก้าวสู่ยุคดิจิทัล ที่ดำเนินการอยู่ อาทิ การสนับสนุนให้ภาคีเครือข่ายมาร่วมบูรณาการงานของ กศน.มากขึ้น สอดคล้องกับ Good partnership ได้มีการประสานและขยายความร่วมมือในระดับพื้นที่อย่างเข้มแข็ง ตั้งแต่ระดับกระทรวง หน่วยงานภาครัฐ ผู้ว่าราชการจังหวัด เครือข่ายการทำงานด้านการศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนันผู้ใหญ่บ้าน กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่ม อสม. กลุ่มสตรี กลุ่มอาชีพ วัด ไปจนถึงสถานีบริการน้ำมัน, การส่งเสริมอาชีพที่เครื่องจักรทำแทนคนไม่ได้ อาทิ นวดแผนไทย งานหัตถกรรม เป็นต้น ซึ่งเป็นไปตาม Good Innovation ที่ส่งเสริมผลิตสินค้าและบริการในแบรนด์ กศน. ที่สอดคล้องกับเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ และขณะนี้อยู่ระหว่างการคัดเลือกผลิตภัณฑ์แบรนด์ กศน.ที่มีความโดดเด่น 100 อย่าง เพื่อส่งเสริมเชิงพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบ และลดความซ้ำซ้อนไปในตัว ขอยืนยันที่จะพัฒนาสิ่งดี ๆ ที่มีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น เพื่อสร้างแบรนด์ของ กศน.ให้เป็นที่รู้จัก ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยสร้างความภาคภูมิใจให้กับชาว กศน.ทั่วประเทศด้วยเช่นกัน” นางกนกวรรณ กล่าว

นายดิศกุล เกษมสวัสดิ์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบ (ร่าง) นโยบายและจุดเน้นการดำเนินงาน สำนักงาน กศน.ประจำปีงบประมาณ 2563 ภายใต้วิสัยทัศน์ “คนไทยได้รับโอกาสทางการศึกษา และการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ สามารถดำรงชีวิตที่เหมาะสมกับช่วงวัย สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และมีทักษะที่จำเป็นในโลกศตวรรษที่ 21” สอดคล้องกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศใน 6 ด้าน คือ ความมั่นคง การพัฒนากำลังคน การวิจัย และนวัตกรรม เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคนให้มีคุณภาพ การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา ด้านส่งเสริมและจัดการศึกษาเพื่อเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาประสิทธิภาพระบบบริหารจัดการ ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์และจุดเน้นการดำเนินงานของ สำนักงาน กศน. ปีงบประมาณที่ผ่านมา เป็นไปตามเป้าประสงค์ “ประชาชนผู้ด้อย พลาด และขาดโอกาสทางการศึกษา รวมถึงประชาชนกลุ่มเป้าหมายพิเศษ ได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง” ซึ่งได้รับจัดสรรงบประมาณ รวมจำนวน 12,441,102,400 บาท ใช้ไปทั้งสิ้น 10,864,964,180.39 บาท โดยนำไปใช้ในการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยแก่กลุ่มเป้าหมาย 31.51 ล้านคน แบ่งเป็น ผู้รับบริการการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 1.94 ล้านคน ผู้รับบริการการจัดการศึกษาต่อเนื่อง 2.02 ล้านคน และผู้รับบริการการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย 27.55 ล้านคน