กสม. เดินหน้าสร้างวิทยากรกระบวนการให้แก่ครูอาจารย์ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ หนุนผู้สอนนำคู่มือการจัดการเรียนรู้สิทธิมนุษยชนศึกษาไปใช้ ปลูกฝังเยาวชนให้เคารพสิทธิฯ

ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้จัดทำ “คู่มือการจัดการเรียนรู้สิทธิมนุษยชนศึกษาสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน” สำหรับนักเรียน 5 ช่วงชั้น ได้แก่ ระดับปฐมวัย ประถมศึกษาตอนต้นตอนปลาย และระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ตอนปลาย โดยมีการส่งมอบคู่มือฯ ให้แก่กระทรวงศึกษาธิการพร้อมกับมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อสนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำคู่มือฯ ดังกล่าวไปใช้ประโยชน์เพื่อร่วมกันส่งเสริมการศึกษาเรื่องสิทธิมนุษยชน เมื่อเดือนมกราคม 2563 นั้น  ต่อมา กสม. ได้ดำเนินการขับเคลื่อน “คู่มือการจัดการเรียนรู้สิทธิมนุษยชนศึกษาสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐาน” สู่การปฏิบัติ โดยเริ่มจากการจัดการอบรมให้ครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ทั่วประเทศสามารถเป็นวิทยากรกระบวนการด้านสิทธิมนุษยชนศึกษา เพื่อการนำคู่มือฯ ไปประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านกลไกศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง

ล่าสุด สัปดาห์ที่ผ่านมา นายสุวัฒน์ เทพอารักษ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในฐานะประธานกรรมการอำนวยการศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชน ภาคใต้ พร้อมด้วยนางสาว อารีวรรณ จตุทอง กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ร่วมเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการวิทยากรกระบวนการด้านสิทธิมนุษยชน (Training of Trainers) ในพื้นที่ภาคใต้เป็นพื้นที่แรก โดยการอบรมดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมการอบรมเป็นแกนนำครูในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนบน ครอบคลุมตั้งแต่ชั้นปฐมวัย – มัธยมศึกษาตอนปลาย กว่า 50 คน ณ โรงแรมแก้วสมุย รีสอร์ท จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ในการนี้ นายสุวัฒน์ เทพอารักษ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวเปิดการอบรมว่า ครูเป็นบุคลากรทางการศึกษาที่มีความสำคัญในฐานะผู้อำนวยการการเรียนรู้ที่ทำหน้าที่สนับสนุน แนะนำวิธีการเรียนรู้และวิธีจัดระเบียบการสร้างความรู้ของเด็กและเยาวชน  กสม. เห็นความสำคัญดังกล่าว จึงได้จัดทำคู่มือการจัดการเรียนรู้สิทธิมนุษยชนศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยยึดหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม รวมทั้งสิ้น 5 ช่วงชั้น ได้แก่ ระดับประถมศึกษาตอนต้น ตอนปลาย ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ตอนปลาย และการปลูกฝังเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2560 เพื่อยกระดับเครื่องมือทางการศึกษา เพิ่มคุณภาพ และประสิทธิภาพครูในด้านสิทธิมนุษยชน รวมทั้งเป็นการส่งเสริมบทบาทครูในการมีส่วนร่วมในการพัฒนา โดยใช้คู่มือฯ เป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาคุณภาพผู้เรียนด้านสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างเครือข่ายพัฒนาครูให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันและนำความรู้ที่ได้รับไปเผยแพร่แก่ครูในโรงเรียนที่สังกัดอย่างเป็นระบบ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างทรัพยากรมนุษย์ ที่เน้นการเปลี่ยนแปลงบทบาทครูให้เป็นครูยุคใหม่ ซึ่งการจัดทำคู่มือการจัดการเรียนรู้สิทธิมนุษยชนศึกษาขั้นพื้นฐานสอดคล้องกับแนวทางดังกล่าว เพราะทำให้เกิดการบูรณาการสิทธิมนุษยชนในสถานศึกษา โดยมีครูเป็นผู้อำนวยงานด้านการศึกษาและมีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง

ด้านนางสาวอารีวรรณ จตุทอง กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากการอบรมให้ครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาสามารถเป็นวิทยากรกระบวนการด้านสิทธิมนุษยชนศึกษาแล้ว กสม. ยังมุ่งหมายให้ครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา ในฐานะแม่พิมพ์ของชาติผู้เป็นต้นแบบของเยาวชนได้มีความเข้าใจ เห็นปัญหา และตระหนักถึงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัว เพื่อให้ภาคสถาบันการศึกษาซึ่งมีความใกล้ชิดชุมชนได้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและส่งเสริมเรื่องสิทธิมนุษยชนร่วมกับภาครัฐ อันถือเป็นการสร้างสังคมแห่งการเคารพสิทธิมนุษยชนจากระดับย่อยสู่ภาพกว้าง

“แม้ว่า กสม. จะได้จัดทำและส่งมอบคู่มือการจัดการเรียนรู้สิทธิมนุษยชนศึกษาสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐานให้แก่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว แต่ก็ยังมีภารกิจสำคัญในการสร้างครูต้นแบบให้เป็นวิทยากรกระบวนการด้านสิทธิมนุษยชนศึกษาเพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่ครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาในการนำคู่มือฯ ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดผลสัมฤทธิ์จริงด้วย โดยพื้นที่ภาคใต้ถือเป็นพื้นที่แรกที่จัดให้มีการอบรมดังกล่าว หลังจากนี้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ – มีนาคม 2563 กสม. จะเดินหน้าจัดอบรมวิทยากรกระบวนด้านสิทธิมนุษยชนศึกษาในอีก 5 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตก และภาคตะวันออก ผ่านกลไกศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค จากนั้นจะมีการประเมินผลการจัดอบรมจากทุกพื้นที่ เพื่อพัฒนาเนื้อหาคู่มือฯ และวิธีการในการอบรมครูต้นแบบต่อไป”  นายสุวัฒน์กล่าวปิดท้าย


สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ