‘ซีพีเอฟ’ ได้รับรางวัลความยั่งยืนระดับ SAM Silver class ในกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร ของ The Sustainability Year Book 2020

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ได้รับรางวัลความยั่งยืนระดับ SAM Silver class ในกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร ที่แสดงอยู่ใน The Sustainability Year Book 2020 เป็นครั้งแรก โดยบริษัทได้รับรางวัลความยั่งยืนระดับ Bronze Class นับตั้งแต่ปี 2018 เกณฑ์รางวัลแบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับ SAM Gold Class (คะแนนอยู่ในช่วง 1% ของบริษัทที่ได้คะแนนสูงสุด) ระดับ SAM Silver Class (คะแนนอยู่ในช่วง 1-5 % ของบริษัทที่ได้คะแนนสูงสุด) และระดับ SAM Bronze Class (คะแนนอยู่ในช่วง 5-10 % ของบริษัทที่ได้คะแนนสูงสุด) ซึ่งสะท้อนถึงการได้รับการยอมรับในการเป็นบริษัทที่มีแนวปฎิบัติด้านความยั่งยืนชั้นนำ มีการเติบโตอย่างยั่งยืน และความสำเร็จในการได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิก DJSI ประเภท Emerging Market ประจำปี 2562 อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 5

SAM ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนเกี่ยวกับความยั่งยืนระดับโลก ได้ประสานความร่วมมือกับกลุ่มดัชนีความยั่งยืนของดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices หรือ DJSI) เพื่อจัดอันดับบริษัทที่มีผลการดำเนินงานด้านความอย่างยั่งยืนที่โดดเด่นใน 61 อุตสาหกรรม โดยในปีนี้มีบริษัทกว่า 4,700 บริษัทชั้นนำทั่วโลกได้รับการประเมิน และเมื่อปลายปี 2562 นี้เอง SAM ยังได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ S&P Global เพื่อยกระดับการประเมินด้านความยั่งยืนต่อไปในอนาคต

นายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซีพีเอฟ ได้กล่าวว่า “ด้วยความมุ่งมั่นในการดำเนินการตามหลักการความยั่งยืนภายใต้สามเสาหลักคือ อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และดินน้ำป่าคงอยู่ ทำให้บริษัทมีความตระหนักและใช้ความสามารถที่มีอยู่ในการขับเคลื่อนประเด็นความยั่งยืนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของบริษัทให้มีพัฒนาการที่ดีขึ้น และสอดคล้องไปกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ โดยมุ่งเน้นประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน การส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน ลดการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การจัดการของเสียอย่างเป็นระบบ การผลิตอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพโดยอาศัยการค้นคว้านวัตกรรมใหม่ๆ ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ก่อให้เกิดผลรวมการดำเนินงานด้านความยั่งยืนที่มั่นคง ขณะเดียวกันปัจจัยทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นเสาหลักที่มีส่วนสำคัญต่อความยั่งยืนของบริษัทที่ไม่อาจละเลย ดังนั้นบริษัทจึงมีนโยบายให้มีการส่งเสริมความยั่งยืนตามแนวทาง “ESG” ในทุกประเทศที่บริษัทเข้าไปดำเนินธุรกิจ รวมถึงการประเมินมูลค่าที่แท้จริงทางสังคมและสิ่งแวดล้อม (Impact Valuation) ของโครงการส่งเสริมการเลี้ยงสุกรขุน ธุรกิจสุกร (Contract Farming – Pig Business) เพื่อให้สามารถระบุ วัดผล และประเมินผลกระทบเป็นมูลค่าเงินได้มากกว่าการวัดผลลัพธ์ด้วยผลิตภัณฑ์และกำไรที่เกิดขึ้นจากโครงการเท่านั้น”

“ซีพีเอฟได้ประเมินผลกระทบดังกล่าวตามหลักการสากลอย่าง Natural Capital Protocol และ Social Capital Protocol ของสภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ World Business Council on Sustainable Development (WBCSD) ทำให้บริษัทเข้าใจผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในเชิงมูลค่าเงินที่แท้จริงมากขึ้นและจับต้องได้ ผลดังกล่าวยังช่วยให้บริษัทสามารถต่อยอดการพัฒนาโครงการได้อย่างเป็นรูปธรรม นั่นคือคุณภาพชีวิตของประชาชน ชุมชนที่ดีขึ้น พร้อมๆกับการลดผลกระทบเชิงลบต่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในระยะยาว” นายวุฒิชัยกล่าวเสริม