กรมการจัดหางาน เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจัดทำ “คู่มือการดำเนินงานและการให้ความช่วยเหลือแรงงานต่างด้าว” เดินหน้าป้องกันการค้ามนุษย์ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนของแรงงานต่างด้าว หวังยกอันดับสถานะของไทย ใน TIP Report

วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563 ณ โรงแรมบางกอกพาเลส กรุงเทพมหานคร นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิด “การประชุมเจ้าหน้าที่ศูนย์ร่วมบริการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวเพื่อจัดทำคู่มือการดำเนินงานและการให้ความช่วยเหลือในศูนย์ร่วมบริการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าว” โดยมี ผู้แทนจากทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน องค์การระหว่างประเทศ (ILO) ประจำประเทศไทย องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ประจำประเทศไทย มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและ การพัฒนา มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) และศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทางทะเล (Stella Maris) เข้าร่วมประชุม มุ่งหวังนำผลที่ได้จากการประชุมไปปรับใช้ในการปฏิบัติงานและให้ความช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวในศูนย์ฯ รวมทั้ง นำมาใช้ประกอบการจัดทำคู่มือฯ เพื่อยกอันดับของไทย ใน TIP Report

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า จากการที่มีแรงงานต่างด้าว เข้ามาทำงานในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ประกอบกับหลายประเทศให้ความสนใจเกี่ยวกับการดำเนินการของไทยในการจ้างแรงงานต่างด้าว การควบคุมดูแลสิทธิประโยชน์ หลักสิทธิมนุษยชนของแรงงานต่างด้าว ทำให้เกิดหน่วยงานกลางเพื่อดูแลแรงงานต่างด้าวที่ประสบปัญหาในประเทศไทย และประสานให้ความช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวในเบื้องต้น

ดังนั้น คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2559 เห็นชอบให้กระทรวงแรงงานจัดตั้งศูนย์ร่วมบริการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าว จำนวน 10 ได้แก่ 1) จังหวัดสมุทรสาคร 2) จังหวัดสมุทรปราการ 3) จังหวัดชลบุรี 4) จังหวัดระนอง 5) จังหวัดสุราษฎร์ธานี 6) จังหวัดสงขลา 7) จังหวัดตาก 8) จังหวัดเชียงใหม่ 9) จังหวัดนครราชสีมา และ 10) จังหวัดขอนแก่น เพื่อบริการให้คำแนะนำ ปรึกษา รับทราบปัญหา แก้ไขปัญหา รวมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย

ซึ่งที่ผ่านมา กรมการจัดหางานและองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้ให้ความสำคัญในการช่วยเหลือแรงงานตามหลักสิทธิมนุษยชน โดยได้มีความร่วมมือเชิงวิชาการเพื่อศึกษาและประเมินผลการปฏิบัติการศูนย์ร่วมบริการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าว ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 เป็นต้นมา โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการที่ปรึกษาโครงการส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ โดยมีปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานคณะกรรมการ ต่อมาในปลายปี พ.ศ. 2560 โครงการส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ (TRIANGLE in ASEAN) และกรมการจัดหางาน ได้ร่วมกันประเมินผลการปฏิบัติงานของศูนย์ร่วมบริการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าว จำนวน 5 ศูนย์ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดตาก และจังหวัดระนอง ซึ่งในการเก็บข้อมูลเพื่อประเมินผลในพื้นที่ มีเจ้าหน้าที่ของกรมการจัดหางาน เป็นผู้แทนไปร่วมกิจกรรมในทุกพื้นที่การศึกษา ซึ่งนับเป็นภารกิจที่สำคัญของกรมการจัดหางาน ที่ช่วยให้เข้าใจและรับทราบถึงข้อท้าทายในการดำเนินการของศูนย์ฯ

“การประชุมฯครั้งนี้ จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การดำเนินงานและการให้ความช่วยเหลือแรงงานในศูนย์ฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีมาตรฐานและแนวทางเดียวกัน ตามที่องค์การแรงงานระหว่างประเทศได้มาทำการศึกษา โดยกรมการจัดหางานได้นำแนวปฏิบัติของศูนย์ฯ แม่สอด จังหวัดตาก(แม่สอดโมเดล) มาเป็นต้นแบบ ให้เจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงาน ซึ่งในการประชุมวันนี้ได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาเสนอแนะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการให้ความช่วยเหลือแรงงานต่างด้าว และการจัดทำคู่มือสำหรับการดำเนินงานและการให้ความช่วยเหลือในศูนย์ร่วมบริการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าว รวมถึง การพัฒนาและเสริมสร้างทักษะให้แก่เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ ในการปฏิบัติงาน โดยผู้เข้าประชุมประกอบด้วย 1) เจ้าหน้าที่ศูนย์ร่วมบริการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าว แห่งละ 3 คน 2) องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) 3) องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) 4) องค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) 5) กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน6) สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว 7) เจ้าหน้าที่กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน โดยการประชุมครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก IOM ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุมครั้งแรก ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้างความร่วมมือ และการกระชับความสัมพันธ์อันดีต่อกัน เพื่อหาแนวทางการพัฒนาศูนย์ร่วมบริการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวและป้องกันการเกิดปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ” นายไพโรจน์ ฯ กล่าว

นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมการจัดหางานให้ความสำคัญกับแรงงานข้ามชาติ ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยให้ได้รับการคุ้มครอง มีสิทธิตามกฎหมายเท่าเทียมกันกับแรงงานไทย ทั้งชายและหญิง ผลที่ได้จากการประชุม จะทำให้ สามารถทราบทิศทางในการดำเนินการ เพื่อยกระดับการปฏิบัติการของศูนย์ฯ ให้มีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล โดยจะนำไปปรับใช้ในการปฏิบัติงานและให้ความช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวในศูนย์ฯ รวมทั้ง นำมาใช้ประกอบการจัดทำคู่มือฯ เพื่อส่งเสริมให้สามารถช่วยเหลือ คุ้มครองแรงงานต่างด้าวได้มากยิ่งขึ้น เพราะยิ่งช่วยเหลือได้มาก แสดงถึงการให้ความใส่ใจ ดูแล คุ้มครองแรงงานต่างด้าว ซึ่งจะมีผลทำให้สถานการณ์การจัดอันดับของไทยใน TIP Report ดีขึ้นได้ ซึ่งสถานการณ์ ของไทยใน TIP Report ปัจจุบันอยู่ในระดับ Tier 2 ซึ่งได้ตั้งเป้าหมายไว้ในระดับ Tier 1 นอกจากนี้ ยังเป็นการแสดงเจตนารมณ์ว่าประเทศไทยมีความตั้งใจในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และเคารพในหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะสามารถสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยในสังคมโลกต่อไป

อย่างไรก็ดี ในทุกๆ ปีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ จะจัดทำรายงานสถานการณ์ค้ามนุษย์ทั่วโลก (Tip Report) โดยการจัดลำดับเรียกว่า Tier ซึ่งมีทั้งหมด 4 ลำดับ และลำดับ Tier 1 ดีที่สุด โดย Tip Report เป็นข้ออ้างที่สหรัฐฯใช้กีดกันการส่งออกสินค้าของประเทศไทย ดังนั้น ในทุกปีหน่วยงานทุกหน่วยงานในประเทศไทยที่มีส่วนเกี่ยวข้อง จึงร่วมมือกันจัดทำ Tip Report เพื่อแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยจริงจังในการปราบปรามปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งในส่วนของกระทรวงแรงงานโดยกรมการจัดหางาน มีศูนย์ร่วมบริการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าว ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์บริการให้คำปรึกษา แนะนำ และช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวที่ประสบปัญหาการทำงานในประเทศไทย พร้อมเป็นศูนย์กลางให้ความช่วยเหลือ หรือส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือต่อไป เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการค้ามนุษย์ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนของแรงงานต่างด้าว เป็นศูนย์รวบรวมข้อมูล และสะท้อนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาแรงงานต่างด้าว เพื่อจัดหาที่พักพิงชั่วคราวให้แก่แรงงานต่างด้าวที่มีปัญหา เพื่อพักระหว่างรอรับการช่วยเหลือ หรือรอส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยจริงจังและตั้งใจในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ โดยที่ผ่านมามีการขอรับความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ อาทิ การจัดหาที่พักพิงชั่วคราวให้แก่แรงงานต่างด้าว ,การขอคำแนะนำในเรื่องเอกสารของคนต่างด้าว รวมทั้งการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ฯลฯ