สนค. คาดว่าการส่งออกไทยจะกลับมาขยายตัวในปี 2563

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวถึงแนวโน้มการส่งออกว่า สนค. ประเมินการส่งออกไทยจะกลับมาขยายตัวในปี 2563 โดยการส่งออกล่าสุดเดือน ธ.ค. 62 หดตัวร้อยละ 1.3 แต่หากหักน้ำมันและทองคำ จะขยายตัวที่ร้อยละ 1.2 เป็นสัญญาณดีว่าการส่งออกไทยเริ่มฟื้นตัวและมีทิศทางที่ดีในปี 2563 มีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ คือ (1) เศรษฐกิจโลกฟื้นตัว โดย IMF คาดการณ์ว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.3 ในปี 2563 (จากร้อยละ 2.9 ในปี 2562) และเห็นสัญญาณว่าการค้าโลกกำลังผ่านจุดต่ำสุดจากกิจกรรมการผลิตในหลายสาขา  (2) ท่าทีความพร้อมในการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของหลายประเทศเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ อาทิ สหรัฐ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น (3) ราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีแนวโน้มฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลกและราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น (4) สงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่เริ่มผ่อนคลายจากการลงนามข้อตกลงทางการค้าระยะแรก (Phase-1 Deal) (5) สถานการณ์ Brexit มีความชัดเจนแล้ว และมีช่วงเปลี่ยนผ่านจนถึงสิ้นปี 2563 ซึ่งจะยังไม่ส่งกระทบต่อผู้ประกอบการไทย และ (6) ค่าเงินบาทเริ่มมีแนวโน้มอ่อนค่าลง โดยเดือน ม.ค. 2563 ค่าเงินบาทเฉลี่ยอยู่ที่ 30.44 บาทต่อดอลลาร์ สรอ. กลับมาอ่อนค่าในรอบ 9 เดือน

สำหรับประเด็นการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาในประเทศจีนนั้น สนค. คาดว่า ยังไม่น่ากระทบต่อการส่งออกไทยในระยะสั้น โดยเฉพาะกลุ่มอาหารที่มีมูลค่าสูงในตลาดจีน เพราะมีอุปสงค์ซื้อสินค้าอาหารไทยที่มีความปลอดภัยและคุณภาพดีอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ไม่ให้มีการชะงักของการค้าในภูมิภาค

สำหรับประเด็นสินค้าส่งออก 573 รายการ ถูกระงับสิทธิ GSP โดยสหรัฐฯ นั้น นางสาวพิมพ์ชนก ยืนยันว่ากระทรวงพาณิชย์อยู่ระหว่างการดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่และเตรียมมาตรการรองรับในทุกกรณีอย่างรัดกุมเพื่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้ส่งออกน้อยที่สุด โดยกรมการค้าต่างประเทศมีแผนรองรับสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ และในด้านการรักษาตลาด กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศมีแผนจัดกิจกรรมนำคณะภาครัฐและเอกชนบุกตลาดเป้าหมายกว่า 18 ประเทศ ในปี 2563 ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์การตลาดสำคัญตามแนวนโยบายของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) เพื่อรักษาฐานเดิมและขยายตลาดใหม่ที่มีศักยภาพอย่างครอบคลุม และกระจายความเสี่ยงจากมาตรการการค้าของประเทศใดประเทศหนึ่ง แผนกิจกรรมสำคัญ อาทิ เอเชีย จีน ญี่ปุ่น อินเดีย บังคลาเทศ และ CLMV ยุโรป ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร และรัสเซีย แอฟริกา แอฟริกาใต้ ตะวันออกกลาง บาห์เรน และออสเตรเลีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์

ในมุมมองรายตลาด นางสาวพิมพ์ชนก ชี้แจงว่าตลาดส่งออกสำคัญต่างๆ มีการปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนในครึ่งปีหลังของปี 2562 อีกทั้งการส่งออกเดือน ธ.ค. 2562 ขยายตัวในหลายตลาด การส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ และจีน ขยายตัวร้อยละ 15.6 และ 7.3 ตามลำดับ ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 10 เดือน และ 18 เดือน ตามลำดับ นอกจากนี้ การส่งออกไปตลาดตะวันออกกลางและตลาดรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS ขยายตัวร้อยละ 11.4 และ 8.0 เป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 23 เดือน และ 16 เดือน ตามลำดับ รวมทั้งการส่งออกไปตลาด CLMV  กลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 8 เดือนที่ร้อยละ 1.1 ซึ่งการส่งออกไปตลาดสำคัญที่ปรับตัวดีขึ้นสะท้อนถึงการส่งออกไทยผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และคาดว่าจะรักษาโมเมนตัมการฟื้นตัวได้ต่อเนื่องในปี 2563

นอกจากนี้ จากการวิเคราะห์ของ สนค. พบว่า มีสินค้าส่งออกหลายรายการที่ควรเร่งผลักดันเพื่อให้การส่งออกไทยกลับมาขยายตัว ในปี 2563 โดยสินค้าไทยมากกว่า 30 รายการ ครอบคลุมทั้งสินค้าเกษตรและอาหาร และสินค้าอุตสาหกรรม (สัดส่วนประมาณร้อยละ 25 และขยายตัวมากกว่าร้อยละ 13) ทำสถิติมูลค่าส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ท่ามกลางการค้าโลกที่ชะลอตัวในปี 2562 และคาดว่าจะยังคงขยายตัวต่อเนื่องในปีนี้ ซึ่งการที่ไทยสามารถส่งออกสินค้ากลุ่มนี้สูงสุดเป็นประวัติการสะท้อนความสามารถในการปรับตัวและพัฒนาสินค้าของผู้ประกอบการไทยที่ตอบโจทย์

ตามความต้องการของตลาด สินค้าเกษตรและอาหาร อาทิ ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง นมและผลิตภัณฑ์นม ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ เครื่องดื่ม สิ่งปรุงรสอาหาร และอาหารสัตว์เลี้ยง สินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ เครื่องส่งวิทยุ โทรเลข โทรศัพท์ นาฬิกาและส่วนประกอบ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องสำอางสบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว  ผ้าแบบสำหรับตัดเสื้อ และเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร

ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กล่าวทิ้งท้ายว่า นอกเหนือจากการรุกตลาดส่งออกและผลักดันสินค้าศักยภาพแล้ว การเร่งเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) เพื่อลดภาษีสินค้า รวมถึงการเจรจาแก้ไขปัญหาจากอุปสรรคและมาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่มาตรการทางภาษี (NTBs และ NTMs) ในตลาดเป้าหมายก็เป็นอีกส่วนสำคัญในการผลักดันการส่งออกในอนาคต โดยหน่วยงานของกระทรวงพาณิชย์ที่เกี่ยวข้องมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันกับภาคเอกชนด้วย ในส่วนของผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญในการดูแลรักษามาตรฐานสินค้าและบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้สินค้าไทยคงศักยภาพในการส่งออกต่อไป

ข้อมูลประกอบ

สินค้าส่งออกที่ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ปี 2562

  • สินค้าเกษตรและอาหาร ที่ขยายตัวสูง ได้แก่
  1. ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง (ตัวร้อยละ 37)
  2. สินค้าปศุสัตว์อื่นๆ (ร้อยละ 23)
  3. ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง (ร้อยละ 15)
  4. นมและผลิตภัณฑ์นม (ร้อยละ 11)
  5. ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ (ร้อยละ 11)
  6. ผักกระป๋องและแปรรูป (ร้อยละ 10)
  7. เครื่องดื่ม (ร้อยละ 8)
  8. สิ่งปรุงรสอาหาร (ร้อยละ 7)
  9. ไก่แปรรูป (ร้อยละ 7)
  10. อาหารสัตว์เลี้ยง (ร้อยละ 4)
  • สำหรับสินค้าอุตสาหกรรม ที่ขยายตัวสูง ได้แก่
  1. เครื่องส่งวิทยุ โทรเลข โทรศัพท์ (ร้อยละ 67)
  2. นาฬิกาและส่วนประกอบ (ร้อยละ 44)
  3. อัญมณีและเครื่องประดับ (รวมทองคำ) (ร้อยละ 31)
  4. รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ (ร้อยละ 20)
  5. ลำโพงขยายเสียงและส่วนประกอบ (ร้อยละ 14)
  6. เครื่องสำอางสบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว (ร้อยละ 11)
  7. ผ้าแบบสำหรับตัดเสื้อ (ร้อยละ 11)
  8. เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร (ร้อยละ 8)
  9. ผลิตภัณฑ์เภสัชภัณฑ์ (ร้อยละ 7)
  10. แผงสวิทซ์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า (ร้อยละ 7)
  11. ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ (ร้อยละ 7)
  12. ปูนซิเมนต์ (ร้อยละ 5)
  13. ครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ (ร้อยละ 4)

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า