“พาณิชย์” เร่งปูทาง “เอฟทีเอ” กับยูเค หลังออกจากการเป็นสมาชิกอียูอย่างเป็นทางการ พร้อมเดินหน้าจัดสัมมนาให้ความรู้กฎระเบียบการค้ากับยูเคหลังเบร็กซิท มีนาคมนี้

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เร่งจัดทำรายงานนโยบายการค้าร่วมกับยูเค หลัง ออกจากการเป็นสมาชิกอียู อย่างเป็นทางการ 31 มกราคม ที่ผ่านมา ย้ำ ไม่กระทบผู้ประกอบการไทย พร้อมคว้าโอกาสปูทางสู่การจัดทำเอฟทีเอระหว่างกันในอนาคต เตรียมจัดสัมมนาให้ความรู้ด้านกฎระเบียบการทำการค้ากับยูเคหลังเบร็กซิท มีนาคมนี้

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการที่สหราชอาณาจักร (ยูเค) ออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) อย่างเป็นทางการเมื่อเวลา  23.00 น  ของวันที่ 31 มกราคม 2563 (หรือเวลา 6.00 น ของวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 เวลาประเทศไทย) ซึ่งยูเคใช้เวลาดำเนินการกว่า 3 ปี นับจากวันที่ประกาศถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2559 จนสามารถบรรลุผลการเจรจาข้อตกลงการถอนตัว และได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาของทั้งสองฝ่ายได้เป็นผลสำเร็จนั้น  นับจากนี้ไปจนถึงสิ้นปี 2563 จะเป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน 11 เดือน ที่ยูเคจะยังคงอยู่ภายใต้กฎระเบียบของอียูแต่ไม่มีสิทธิออกเสียงใดๆ โดยทั้งสองฝ่ายจะต้องเร่งเจรจาจัดทำความตกลงทั้งด้านการค้าไปจนถึงความมั่นคงเพื่อให้การดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างกันไม่สะดุดเมื่อยูเคออกจากอียูอย่างสมบูรณ์ในวันที่ 1 มกราคม 2564

นางอรมน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สำหรับผลกระทบต่อไทยจากกรณีที่ยูเคออกจากการเป็นสมาชิกอียู (เบร็กซิท) ในชั้นนี้ ประเมินว่า ไม่น่ามีผลกระทบมาก อาจมีเพียงความผันผวนอ่อนค่าลงของเงินปอนด์เล็กน้อย โดยการค้าระหว่างยูเคกับประเทศอื่นๆ รวมถึงไทยจะยังคงดำเนินไปได้ตามปกติ ภายใต้กฎระเบียบการค้าเดิมเสมือนว่ายูเคยังอยู่กับอียูไปอย่างน้อยจนถึงสิ้นปีนี้ อย่างไรก็ดี ในช่วงระหว่างนี้ ยูเคจะหารือกับอียูเพื่อเจรจาจัดทำความตกลงทางการค้าระหว่างกัน ซึ่งกรมฯ จะติดตามผลการหารือนี้อย่างใกล้ชิดว่าจะมีรายละเอียดอย่างไร และจะมีผลกระทบหรือสร้างโอกาสทางการค้ากับไทยมากน้อยเพียงใด เพื่อประสานกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเตรียมการปรับตัวได้ทันท่วงที

นางอรมน เสริมว่า กรมฯ ได้ติดตามสถานการณ์เบร็กซิทอย่างใกล้ชิด และเตรียมการรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะการเจรจากับทั้งอียูเเละยูเคเรื่องการแก้ไขตารางข้อผูกพันโควตาภาษีภายใต้กรอบองค์การการค้าโลก (WTO) สำหรับโควตาสินค้าจำนวน 31 รายการ อาทิ มันสำปะหลัง แป้งมันสำปะหลัง ข้าวขาว ข้าวกล้อง ข้าวหัก ผลิตภัณฑ์สัตว์ปีก ปลากระป๋อง เป็นต้น ที่ไทยเคยได้รับโควตาจากอียู เเละจะต้องมีการจัดสรรเเบ่งโควตาใหม่ภายหลังยูเคออกจากอียู (เบร็กซิท) โดยมีเป้าหมายเบื้องต้นในการรักษาผลประโยชน์ของไทยให้ได้รับปริมาณโควตารวม (ที่ทั้งอียูและยูเคจะต้องจัดสรรโควตาให้ไทยใหม่) ไม่น้อยกว่าที่ไทยเคยได้รับเมื่อตอนที่ยูเคยังเป็นสมาชิกอียู รวมทั้งสะท้อนปริมาณการค้าจริงระหว่างไทยกับอียู 27 ประเทศ และยูเคให้มากที่สุด เนื่องจากยูเคเป็นคู่ค้ารายสำคัญอันดับที่ 21 ของไทย (อันดับที่ 2 ในอียู รองจากเยอรมนี) มีมูลค่าการค้ากับไทยปี 2562 อยู่ที่ 6,260 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยได้ดุลการค้า 1,426 ล้านเหรียญสหรัฐ การกระชับความสัมพันธ์กับยูเคภายหลังเบร็กซิทจึงเป็นเรื่องที่ไทยให้ความสำคัญ ซึ่งขณะนี้ กรมฯ อยู่ระหว่างศึกษานโยบายและมาตรการที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับยูเค และมีกำหนดจัดประชุมเพื่อระดมความเห็นกับภาครัฐและภาคเอกชน ในวันที่ 7 และ 13 กุมภาพันธ์ 2563 ตามลำดับ ซึ่งเมื่อไทยและยูเคจัดทำรายงานการศึกษานโยบายการค้าของกันและกันเสร็จแล้ว ทั้งสองฝ่ายจะเข้าสู่กระบวนการหารือเพื่อจัดทำรายงานนโยบายการค้าร่วมกันต่อไป ซึ่งจะช่วยปูทางไปสู่การจัดทำเอฟทีเอระหว่างกันในอนาคต

นางอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมฯ มีแผนที่จะจัดสัมมนาเผยแพร่ความรู้และประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการ และผู้สนใจในเรื่องการประกอบธุรกิจและกฎระเบียบการทำการค้ากับยูเคภายหลังเบร็กซิทในเดือนมีนาคมนี้ โดยเชิญวิทยากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทั้งจากภาครัฐและเอกชนมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการรับมือเบร็กซิท รวมถึงแนวทางการดำเนินความสัมพันธ์ฉันหุ้นส่วนระหว่างไทยและยูเคต่อไปในอนาคต ขณะเดียวกัน กรมฯ อยู่ระหว่างการศึกษาวิจัยเรื่องประโยชน์และผลกระทบต่อไทยในการทำเอฟทีเอกับยูเค รวมทั้งเตรียมจัดรับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน เกษตรกร และภาคประชาสังคมในเรื่องดังกล่าว เพื่อรวบรวมเป็นข้อมูลเสนอระดับนโยบายตัดสินใจเรื่องการทำเอฟทีเอระหว่างสองประเทศต่อไป

ทั้งนี้ การค้าไทยกับยูเคในปี 2562 มีมูลค่ารวม 6,260 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 11.04 โดยไทยส่งออกไปยูเค 3,843 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ไก่แปรรูป รถยนต์และอุปกรณ์ แผงวรจรไฟฟ้า อัญมณีและเครื่องประดับ รถจักรยานยนต์ เครื่องจักรกล เป็นต้นและไทยนำเข้าจากยูเค 2,417 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ แผงวรจรไฟฟ้า เครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เป็นต้น

———————————————

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์