รองนายกฯ สมคิด นำทีมรัฐมนตรีลุยภาคใต้ บูรณาการงานเชิงพื้นที่ “ประชารัฐสร้างไทย พัฒนาปักษ์ใต้ ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน”

รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และคณะ มอบนโยบายและติดตามการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากประชารัฐสร้างไทย พร้อมตรวจเยี่ยมการดำเนินงานสถาบันการเงินชุมชน ธุรกิจชุมชน และผู้ประกอบการ SMEs เกษตร โดยมีผู้บริหาร ธ.ก.ส. ออมสิน ททท. สทบ. และส่วนงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชเข้าร่วมงาน ด้าน ธ.ก.ส. ชูผลงานผลักดันธุรกิจชุมชนสร้างไทยไปแล้วกว่า 502 ชุมชนทั่วประเทศ

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 ณ สถาบันการเงินชุมชนบ้านวังไทร ตำบลเขาโร อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบนโยบายและติดตามความคืบหน้าการดำเนินงาน “ประชารัฐสร้างไทย พัฒนาปักษ์ใต้ ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน” โดยตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของชุมชน ในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และการมอบสินเชื่อธุรกิจสร้างไทยแก่ชุมชน พร้อมร่วมรับฟังรายงานความก้าวหน้าของโครงการดังกล่าวจาก นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ดร.ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นายยุทธนา หยิมการุญ อธิบดีกรมธนารักษ์ นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานปฏิรูปที่ดินนายนที ขลิบทอง ผู้อำนวยการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) นางสาวฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และนายถวิล มั่งนุ่ย รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน โดยมีนายศิริพัฒ พัฒกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ส่วนงานภาครัฐ เอกชน เกษตรกรและประชาชนในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ให้การต้อนรับ

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. ได้ขับเคลื่อนโครงการธุรกิจชุมชนสร้างไทย เพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจฐานรากที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในชุมชน ประกอบด้วย กิจกรรมการผลิต กิจกรรมการซื้อ-ขายผลผลิต และการบริโภคของคนในชุมชนอย่างมีส่วนร่วม โดยใช้ทรัพยากรของชุมชน มีการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเกื้อกูลและเป็นธรรม มีแนวทางในการขับเคลื่อนที่เริ่มจากการค้นหาและศึกษาความต้องการของชุมชน ทั้งโอกาส ศักยภาพ ปัญหา แนวทางพัฒนาและแก้ไข เหมือนการระเบิดจากภายใน จากนั้นจึงเริ่มพัฒนา สร้างความเข้มแข็ง โดยยึดหลักตลาดนำการผลิตและมีการกำหนดแผนธุรกิจที่ชัดเจน ผสานความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชนในด้านการให้ความรู้ เทคโนโลยีนวัตกรรม งานวิจัย และงบประมาณ อีกทั้ง ธ.ก.ส. ยังช่วยสนับสนุนสินเชื่อให้กับ Smart Farmer ผู้ประกอบการ SMEs เกษตร วิสาหกิจชุมชน และสหกรณ์การเกษตร เพื่อทำให้เกิดผลลัพธ์ คือ ความมั่นคงของเศรษฐกิจฐานราก มีภูมิคุ้มกัน มีรายได้ สวัสดิการสังคม และโอกาสทางการตลาดที่เพิ่มขึ้น

ในส่วนของการดำเนินงาน ธ.ก.ส. ได้มีการอบรมและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวแก่พนักงานทั่วประเทศ โดยมอบหมายพนักงานพัฒนาลูกค้าดูแลรับผิดชอบธุรกิจชุมชนโดยตรง พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนระดับจังหวัดและอำเภอ จัดตั้งศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจชุมชนทั้ง 77 จังหวัด เพื่อเป็นศูนย์กลางผสานความร่วมมือจากเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคสังคมและภาคประชาชน พร้อมทั้งสนับสนุนสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย วงเงิน 50,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำที่สุดเพียงร้อยละ 0.01 ต่อปี และสินเชื่ออื่น ๆ ตามแผนธุรกิจที่เหมาะสมตามความต้องการของแต่ละชุมชน เพื่อใช้ในการลงทุนและพัฒนารวมกว่า 100,000 ล้านบาท ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมาย คือ กองทุนหมู่บ้าน กลุ่มเกษตรกร สถาบันการเงินประชาชน วิสาหกิจเพื่อสังคม วิสาหกิจชุมชน Smart Farmer SMEs เกษตรที่เป็นหัวขบวน และสหกรณ์การเกษตร

โดย ณ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 ธ.ก.ส. ได้ขับเคลื่อนธุรกิจชุมชนไปแล้วกว่า 502 ชุมชนทั่วประเทศ โดยในส่วนของพื้นที่ภาคใต้มีธุรกิจชุมชน จำนวน 27 ชุมชน ทั้งนี้ ภายในงาน ธ.ก.ส. ได้นำเสนอผลการพัฒนาชุมชน ได้แก่ โครงการการจัดการห่วงโซ่คุณค่าสินค้าเกษตรอย่างบูรณาการ ประกอบด้วย การจัดการยางพารา โดยสถาบันการเงินชุมชนบ้านวังไทร ตั้งแต่การผลิตน้ำยางสด การแปรรูปยางแท่งและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ จากยาง ส่งขายภายในประเทศ ซึ่งในพื้นที่ 3 อำเภอของจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยสถาบันการเงินชุมชนได้ระดมเงินทุนจากสมาชิกเพื่อลงทุนสร้างโรงงานแปรรูปยางพาราและอุปกรณ์กว่า 69 ล้านบาท คาดว่าเมื่อเปิดโรงงานแล้วจะมีเงินทุนหมุนเวียนกว่า 116 ล้านบาท โดยจะขอรับการสนับสนุนสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทยจาก ธ.ก.ส. ประมาณ 120 ล้านบาท

นอกจากนี้ ได้นำเสนอตัวอย่างการปรับเปลี่ยนอาชีพจากการปลูกยางไปสู่การปลูกไผ่ การเลี้ยงโค หรือการปลูกต้นกาแฟ การทำปาล์มคุณภาพเพื่อยกระดับชีวิตเกษตรกร ในพื้นที่จังหวัดระนอง ชุมพร พังงา สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต และกระบี่ ซึ่งมีการเชื่อมโยงเกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย และเกษตรแปลงใหญ่ที่ปลูกปาล์มน้ำมัน ไปสู่การรวบรวมปาล์ม และนำไปแปรรูปสกัดเป็นน้ำมันปาล์มเพื่อบริโภคและน้ำมันไบโอดีเซลช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิต การผลิตมังคุดคุณภาพ รวบรวมมังคุดคุณภาพจากเกษตรกร สหกรณ์การเกษตร วิสาหกิจชุมชน ส่งตลาดที่รับซื้อทั่วประเทศและเพิ่มช่องทางจำหน่ายทางออนไลน์ ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช การจัดการห่วงโซ่คุณภาพอย่างบูรณาการของโคเนื้อ 3 จังหวัดชายแดนใต้ (ปัตตานี ยะลาและนราธิวาส) กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี บ้านควนสวรรค์ ตำบลนาหมื่นศรี อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง ที่รวมกลุ่มกันทำผ้าฝ้ายทอมือ สร้างรายได้กว่า 7,900 ล้านบาทต่อปี พรรัตภูมิฟาร์ม เกษตรเทคโนโลยี 4.0 สร้างนวัตกรรม ฟาร์มไข่ไก่ ระบบอัจฉริยะ ควบคุมด้วยเทคโนโลยี IoT รวมถึงชุมชนท่องเที่ยวเกาะยาวน้อย บ้านริมเล จังหวัดพังงา และชุมชนท่องเที่ยว บ้านท่าข้ามควาย ตำบลนาทอน อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล

นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังได้นำรองนายกรัฐมนตรีและคณะ เยี่ยมชมการดำเนินงานของเกษตรกรลูกค้าและวิสาหกิจชุมชน ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง และตรัง ในระหว่างวันที่ 31 มกราคม – 2 กุมภาพันธ์ 2563 อาทิ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรสวนจันทร์ศรี ตำบลบ้านเกาะ ผลิตภัณฑ์กล้วยเล็บมือนาง เห็ดหลินจือ อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช เยี่ยมชมชุมชนท่องเที่ยว/ตลาดชุมชน/วิสาหกิจชุมชนสวนไผ่ขวัญใจ ตำบลควนขนุน วิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมกระจูดวรรณี ตำบลพนางตุง สหกรณ์การเกษตรบ้านแพรกหา (ผลิตหมอนยางพารา) ตำบลแพรกหา อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง และวิสาหกิจชุมชนนาหมื่นศรี ที่ทำกิจการผ้าทอนาหมื่นศรี อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง