รมต.เฉลิมชัยฯ ลงพื้นที่ติดตามภัยแล้งเมืองเชียงใหม่

วันที่ 1 ก.พ. 63 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำปิงตอนบน โดยมี ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน นายสุชาติ เจริญศรี รองอธิบดีกรมชลประทาน นายสัญญา แสงพุ่มพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน (ด้านบำรุงรักษา) กรมชลประทาน นายสุดชาย พรหมมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ ณ ประตูระบายน้ำในลำน้ำปิง ตำบลป่าแดด อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ปี 2562 มีปริมาณฝนสะสมประมาณ 911 มิลลิเมตร ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติร้อยละ 21.80 ของค่าเฉลี่ยปกติ ส่งผลให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำปิงที่สถานีวัดน้ำท่า P.1 บริเวณสะพานนวรัฐ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ มีปริมาณน้ำรายปีสะสมเพียง 519 ล้านลูกบาศก์เมตร น้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติร้อยละ 68 ของปริมาณน้ำปกติ

สำหรับการวางแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้งปี 2562/63 เพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัดในพื้นที่ลุ่มน้ำปิงตอนบน (เชียงใหม่-ลำพูน) ซึ่งกำหนดแผนการระบายน้ำจากเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลสนับสนุนการใช้น้ำตลอดฤดูแล้งในปริมาณ 70 ล้านลูกบาศก์เมตร จำนวน 25 รอบเวร เริ่มตั้งแต่วันที่ 11 มกราคม ไปจนถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 นอกจากนี้ ได้จัดหาแหล่งเก็บกักน้ำ จำนวน 10 แห่ง เพื่อสำรองไว้ใช้ในภาวะวิกฤติภัยแล้ง ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำ และแก้มลิง ที่อยู่ในเขตโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง และโครงการชลประทานเชียงใหม่ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำประมาณ 4 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อใช้เป็นแหล่งน้ำดิบสำหรับสนับสนุนการผลิตน้ำประปาของจังหวัดเชียงใหม่
ในส่วนของการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชน กรมชลประทานขอความร่วมมือเกษตรกรลดการทำนาปรัง และส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทน พร้อมทั้งวางแผนจัดสรรน้ำช่วยในการผลิตน้ำประปาให้เพียงพอตลอดฤดูแล้ง อีกทั้งควบคุมระดับน้ำ คุณภาพน้ำ โดยการเฝ้าระวังการระบายน้ำเสียลงสู่แม่น้ำปิง และขอความร่วมมือจากกลุ่มเกษตรกรผู้ใช้น้ำให้ปฏิบัติตามแผนการใช้น้ำแต่ละรอบเวรที่กำหนดไว้

กรมชลประทาน โดย สำนักงานชลประทานที่ 1 จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจ แก้ไขและบรรเทาวิกฤติภัยแล้ง ปี 2562/63 และศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาเรื่องน้ำ จำนวน 10 แห่ง เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งให้แก่ผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วนได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ อีกทั้งเตรียมพร้อมด้านเครื่องจักร เครื่องมือสำหรับให้ความช่วยเหลือพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ประกอบด้วย เครื่องสูบน้ำ จำนวน 79 เครื่อง รถสูบน้ำ จำนวน 2 คัน รถบรรทุกน้ำ จำนวน 16 คัน รถขุด จำนวน 5 คัน รถบรรทุก จำนวน 25 คัน รถแทรกเตอร์ จำนวน 1 คัน และเครื่องจักรกลสนับสนุนอื่น ๆ หากมีข้อสงสัย และต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้าน หรือโทร. 1460 ตลอดเวลา

****************************

กรมชลประทาน
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
1 กุมภาพันธ์ 2563