หม่อมเต่า กำชับประกันสังคม เร่งประชาสัมพันธ์สถานประกอบการ ที่มีแรงงานต่างด้าว เข้าตรวจสุขภาพ 7 โรค

หม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล (หม่อมเต่า) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ห่วงสุขภาพแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย กำชับ นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เร่งหน่วยงานในกำกับสำนักงานประกันสังคมทั่วประเทศ ประชาสัมพันธ์สถานประกอบการที่มีแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ได้แก่ ลาว กัมพูชา เมียนมา ให้เข้าตรวจสุขภาพในโรคต่าง ๆ ได้แก่ โรคเรื้อน วัณโรคในระยะอันตราย โรคซิฟิลิส ในระยะที่ 3 โรคพิษสุราเรื้อรัง โรคติดยาเสพติด โรคเท้าช้าง และการตั้งครรภ์ (เฉพาะผู้หญิง) ทั้งนี้เพื่อให้แรงงานต่างด้าวสามารถทำงานในประเทศไทยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ด้านนายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้สำนักงานประกันสังคมกำชับให้สำนักงานประกันสังคมพื้นที่/จังหวัด/สาขา ทั่วประเทศ ได้เร่งประชาสัมพันธ์ และขอความร่วมมือสถานพยาบาลในพื้นที่ เพื่อให้การตรวจสุขภาพให้แก่แรงงานต่างด้าวเกิดความสะดวกทั้งลูกจ้าง และนายจ้าง อย่างมีประสิทธิภาพ และให้บริการตรวจสุขภาพ โดยพร้อมเพรียงกันทั่วประเทศ

สำหรับแนวทางการบริหารจัดการทำงานของแรงงานต่างด้าว ปี 2562 – 2563 ได้กำหนดแนวทางการบริหารแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว เมียนมา) ดังนี้

1) แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว เมียนมา) ที่มีเงื่อนไข ดังนี้

(1) มีใบอนุญาตทำงานและการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรยังไม่หมดอายุ

(2) ถือเอกสารประจำตัว ได้แก่ หนังสือเดินทาง เอกสารเดินทาง เอกสารรับรองบุคคล หนังสือเดินทางชั่วคราวหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางที่ยังมีอายุเหลืออยู่ในวันที่ไปยื่นขออนุญาตเพื่ออยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไป

ให้แรงงานต่างด้าวที่ประสงค์ทำงานต่อจากระยะเวลาการอนุญาตทำงานเดิม จะสิ้นสุดไม่ต้องเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักร โดยยื่นใบอนุญาตทำงานก่อนที่ระยะเวลาการอนุญาตทำงานเดิมจะสิ้นอายุเป็นการดำเนินการในลักษณะเข้ามาทำงานอย่างถูกต้อง

2) นายจ้างหรือผู้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศ ยื่นเอกสาร เพื่อแสดงถึงการได้รับอนุญาตทำงานและการได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรยังไม่สิ้นสุด ได้แก่ บัญชีรายชื่อแรงงานต่างด้าว (Name List) สัญญาจ้าง สำเนาหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง สำเนาใบอนุญาตทำงานหรือหลักฐานการได้รับอนุญาตทำงานกับหน่วยงานของกรมการจัดหางาน

3) แรงงานต่างด้าวนำเอกสารที่ผ่านการรับรอง ไปตรวจสุขภาพ กรณีเข้าระบบประกันสังคม ให้ตรวจสุขภาพ ณ สถานพยาบาลที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล ค่าตรวจสุขภาพ  500 บาท กรณีไม่เข้าประกันสังคมหรือเข้าประกันสังคมใหม่ ให้ตรวจสุขภาพ ณ โรงพยาลที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ค่าตรวจสุขภาพ 500 บาท

4) แรงงานต่างด้าวนำผลการตรวจสุขภาพ และเอกสารตามที่กระทรวงแรงงานกำหนดยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ณ จุดตรวจคนเข้าเมือง ที่ตั้งอยู่ในท้องที่เพื่อขออนุญาต อยู่ในราชอาณาจักรต่อไป พร้อมทั้งยื่นเอกสารต่อเจ้าหน้าที่ ณ สำนักงานจัดหางานจังหวัดหรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 ในท้องที่ที่เป็นที่ตั้งสถานที่ทำงานของแรงงานต่างด้าว โดยกรมการจัดหางานจะพิจารณาออกใบอนุญาตทำงานมีระยะเวลาอนุญาตไม่เกิน 2 ปี

นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวในตอนท้ายว่า กระทรวงแรงงาน โดยหม่อมราชวงศ์จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และสำนักงานประกันสังคม ดำเนินการตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าว และดำเนินการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จึงขอความร่วมมือนายจ้างที่มีแรงงานต่างด้าวทั้ง 3 สัญชาติ ได้แก่ ลาว กัมพูชา เมียนมา ดำเนินการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป – 31 มีนาคม 2563    ที่ศูนย์ one stop service ทั่วประเทศ สำนักงานประกันสังคมยังคงมุ่งมั่นสนับสนุนการบริหารแรงงานต่างด้าวตามนโยบายของรัฐบาลในการบริหารจัดการประเทศด้านแรงงานอย่างยั่งยืนต่อไป สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง สำนักงานประกันสังคมจังหวัด/สาขาที่ท่านสะดวก หรือโทร.1506 ตลอด 24 ชั่วโมง

——————————————————

ศูนย์สารนิเทศ สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน