ชป.เดินหน้าช่วยภัยแล้งทั่วประเทศ วอนประชาชนใช้น้ำตามแผน ฝ่าวิกฤติแล้งนี้ไปด้วยกัน

ตามที่นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบนโยบายให้กรมชลประทาน บริหารจัดการน้ำ เพื่อช่วยให้สามารถผ่านพ้นวิกฤติภัยแล้งไปให้ได้ โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำอุปโภคบริโภคต้องไม่ให้เกิดการขาดแคลน พร้อมเน้นย้ำให้ปรับปรุงอ่างเก็บน้ำเดิมให้สามารถเก็บกักน้ำได้มากขึ้น รวมไปถึงพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำหรือสร้างแก้มลิงเพิ่มในลุ่มน้ำต่างๆ เพื่อเป็นแหล่งน้ำสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง นั้น

นายธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านที่ปรึกษาอุทกวิทยา กรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้สนองนโยบายของรัฐบาล โดย กระทรวงเกษตรและหสหกรณ์ ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาวิกฤติภัยแล้ง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน โดยสั่งการไปยังโครงการชลประทานทั่วประเทศ ให้เตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ รวมไปถึงการจัดทำแผนการปรับปรุงและพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อเพิ่มพื้นที่เก็บกักน้ำให้มากขึ้น

โดยในส่วนการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา สำนักงานชลประทานที่ 8 ได้ทำการวางท่อน้ำดิบจากอ่างเก็บน้ำห้วยยางพะไลไปยังสถานีสูบน้ำบ้านตะหนิน เพื่อสูบน้ำไปเติมให้กับอ่างเก็บน้ำห้วยตระคร้อ สำหรับสนับสนุนน้ำช่วยการประปาส่วนภูมิภาคสาขาพิมาย นอกจากนี้ ยังได้ทำการสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำบึงถนนหักใหญ่ ตำบลกุดพิมาน ไปเติมให้กับสระเก็บน้ำบ้านโนนสะเดา เพื่อสูบน้ำสนับสนุนการประปาส่วนภูมิภาคสาขาด่านขุนทด รวมไปถึงการผันน้ำจากลำตะคอง ไปช่วยพื้นที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำลุ่มน้ำลำเชียงไกร ส่วนที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้มีการผันน้ำจากคลองพระองค์ไชยานุชิต เพื่อสนับสนุนน้ำสำหรับผลิตน้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาคสาขาฉะเชิงเทรา ในอัตรา 15,000 – 20,000 ลบ.ม./วัน บวกกับน้ำจาก EW 20,000 ลบ.ม/วัน รวมรับน้ำดิม 35,000 ลบ.ม/วัน ซึ่ง การประปาส่วนภูมิภาคฉะเชิงเทราได้ลดกำลังผลิตลง 25% จากผลิต 45,000 ลบ.ม./วัน

นอกจากนี้ยังมีมาตรการในการกระแทกน้ำเค็มเพื่อดันลิ่มความเค็มน้ำทะเล รวมทั้งได้ประสานกับการประปานครหลวงงดสูบน้ำช่วงน้ำน้ำทะเลหนุนสูง แล้วยังได้ประสานกับกรุงเทพมหานครไม่ให้สูบน้ำในช่วงน้ำทะเลหนุนสูงเพื่อป้องกันน้ำเสียไหลย้อนและใช้ประตูราบายน้ำคลองลัดโพธิ์ให้ปิดประตูเมื่อน้ำท้เลหนุนสูง มาตรการดังกล่าวจะทำให้สามารถรับมือกับปัญหาน้ำทะเลหนุนสูงได้เป็นอย่างดีไม่เป็นผลกระทบต่อน้ำประปา

ด้านจังหวัดบุรีรัมย์ โครงการชลประทานบุรีรัมย์ ได้ทำการประเมินปริมาณน้ำที่มีอยู่ในช่วงต้นฤดูแล้งเดือนพฤศจิกายน 2562 พบว่าปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆในขณะนั้น จะสามารถใช้น้ำได้ถึงกลางเดือน ธ.ค. 62 แต่หลังจากที่ได้มีการสูบน้ำกลับและสูบน้ำจากสถานีลำปลายมาศเข้าอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มากและอ่างเก็บน้ำ-ห้วยตลาด ทำให้ปริมาณน้ำในอ่างฯเพิ่มขึ้น สามารถใช้ได้ถึงวันที่ 30 มี.ค. 63 ซึ่งหลังจากนั้นจะใช้น้ำที่จะผันมาจากเมืองหินเพิ่มเติม คาดว่าจะมีน้ำใช้ได้อีก 1 เดือน จากนั้นจะใช้น้ำที่จะผันมาจากอ่างเก็บน้ำลำจังหันและอ่างเก็บน้ำ-ลำปะเทีย สามารถใช้ได้อีก 1 เดือน ซึ่งจากแนวทางการจัดหาน้ำเพิ่มเติมดังกล่าวนี้ ทำให้มีปริมาณน้ำสำรองไว้ใช้ได้ไปจนถึงสิ้นเดือน พ.ค. 63 หลังจากนั้นจะใช้น้ำจากระบบผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยสวาย ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างโดยการประปาส่วนภูมิภาค คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณต้นเดือน พ.ค. 63

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้มีการเตรียมความพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ ในการเข้าให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง และขอความร่วมมือประชาชนที่อยู่ริมคลองไม่ให้ทำการสูบน้ำระหว่างการส่งน้ำ เนื่องจากมีการจัดรอบเวรการใช้น้ำให้เท่าเทียมกันทุกภาคส่วนในพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ และเพื่อให้มีน้ำเพียงพอสำหรับอุปโภคบริโภคตลอดฤดูแล้งนี้ หากต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อโครงการชลประทานใกล้บ้านได้ตลอดเวลา หรือโทร. 1460 สายด่วน กรมชลประทาน

………………………………………………….

ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

29 มกราคม 2563