“ดีป้า” ยกขบวนผู้บริหารดิจิทัลสตาร์ทอัพเข้าพบนายกรัฐมนตรี โชว์เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการบริการภาครัฐ ตัวช่วยยกระดับบริการสาธารณะไทย

28 มกราคม 2563, หน้าตึกบัญชาการ1 ทำเนียบรัฐบาล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า นำคณะผู้บริหารดิจิทัลสตาร์ทอัพเข้าพบนายกรัฐมนตรี พร้อมนำเสนอเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการบริการภาครัฐ ตัวช่วยสำคัญในการยกระดับบริการสาธารณะของประเทศ

ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมด้วย ดร.ภาสกร ประถมบุตร รองผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า นำคณะผู้บริหารดิจิทัลสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการบริการภาครัฐ (GovTech) จาก 5 บริษัทเข้านำเสนอผลงานต่อ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งดิจิทัลสตาร์ทอัพทั้ง 5 ราย ประกอบด้วย

  1. iRAP Robot (คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ) ผู้คิดค้นหุ่นยนต์กู้ภัย นำเสนอ “หุ่นยนต์กู้ภัยและระบบทำแผนที่สามมิติ”
  2. EOD Robot (บริษัท กราวิเทคไทย (ไทยแลนด์) จำกัด และ Naiyim Garage) ผู้ออกแบบหุ่นยนต์ตรวจหาและเก็บกู้วัตถุระเบิดสำหรับนำไปใช้งานในพื้นที่เสี่ยง ทดแทนความเสี่ยงด้านการสูญเสียหรือบาดเจ็บของเจ้าหน้าที่ ในราคาที่ย่อมเยาว์นำเสนอ “หุ่นยนต์ตรวจหา เก็บและกู้วัตถุระเบิด”
  3. ViaBus (บริษัท เวีย กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด) ผู้ให้บริการแอปพลิเคชันติดตามและนำทางขนส่งรถโดยสารสาธารณะประจำทาง นำเสนอ “แอปพลิเคชันติดตามรถโดยสารประจำทางแบบเรียลไทม์”
  4. Verily Vision (บริษัท เวริลี วิชั่น จำกัด) ผู้ให้บริการระบบกล้องเก็บข้อมูลตู้คอนเทนเนอร์สินค้าและป้ายทะเบียนรถแบบอัตโนมัติ โดยการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ร่วมกับเทคโนโลยีการประมวลผลภาพ (Image Processing Technology) นำเสนอ “Container Truck Gate Automation หรือระบบอ่านหมายเลขตู้คอนเทนเนอร์และป้ายทะเบียนรถบรรทุกอัตโนมัติ”
  5. Creden (บริษัท ครีเดน เอเชีย จำกัด) ผู้ให้บริการระบบสร้างและลงนามเอกสารออนไลน์ นำเสนอ “เทคโนโลยีการให้บริการด้านการยืนยันตัวตนออนไลน์และการลงลายชื่อรูปแบบดิจิทัล รวมถึงการประเมินความเสี่ยงของลูกค้า”

ทั้งนี้ นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการบริการภาครัฐคือ การให้บริการจากภาครัฐสู่ภาคประชาชนโดยมีเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นตัวเชื่อม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของรัฐควบคู่ไปกับการอำนวยความสะดวกภาคประชาชน เปลี่ยนการติดต่อหรือการเข้าถึงภาครัฐแบบเดิมสู่ระบบดิจิทัล พร้อมยกระดับบริการสาธารณะไทยให้มีประสิทธิภาพ

ขณะที่ ดร.ภาสกร กล่าวว่า ดิจิทัลสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีเพื่อการบริการภาครัฐที่ร่วมนำเสนอเทคโนโลยีดิจิทัลต่อนายกรัฐมนตรีวันนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของดิจิทัลสตาร์ทอัพที่ได้รับการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนการพัฒนาต่อยอดธุรกิจภายใต้มาตรการส่งเสริมของดีป้า เช่นเดียวกับดิจิทัลสตาร์ทอัพด้านการเกษตรที่นำเสนอผลงานและได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากนายกรัฐมนตรี รวมถึงสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 7 มกราคมผ่านมา

“ดีป้าจะนำผู้บริหารดิจิทัลสตาร์ทอัพอีก 4 รายเข้านำเสนอเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสุขภาพ (HealthTech) ต่อนายกรัฐมนตรีก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีอีกครั้งในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำคัญในการยกระดับบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่พัฒนาโดยฝีมือคนไทย เพื่อคนไทย และพร้อมต่อยอดสู่ระดับสากล” รองผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว

———————————————————————