สถานการณ์ตลาดน้ำมันประจำสัปดาห์ที่ 20-24 ม.ค. 63 และคาดการณ์สัปดาห์ที่ 27-31 ม.ค. 63 โดยส่วนวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ

  • นักลงทุนกังวลว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ส่งผลกระทบกดดันเศรษฐกิจโลกและความต้องการ ใช้น้ำมัน โดย Goldman Sach คาดผลกระทบของไวรัสโคโรนา อาจจะทำให้อุปสงค์น้ำมันโลก ในปี       พ.ศ. 2563 ลดลง 230,000 บาร์เรลต่อวัน
  • IMF ปรับลดคาดการณ์ GDP โลกปี พ.ศ. 2563 อยู่ที่ระดับ 3.3% ลดลงจากประเมินครั้งก่อนในเดือน ต.ค. 62 ที่ระดับ 3.4% เนื่องจากความเสี่ยงจากปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลาง และเหตุการณ์ที่สร้างความเสียหาย อาทิ ไฟป่าในออสเตรเลีย อย่างไรก็ดีอัตราการติบโตสูงกว่าปี พ.ศ. 2562 ที่ระดับ 2.9%
  • Reuters รายงานแผนการส่งมอบน้ำมันดิบจากไนจีเรีย 4 ชนิด ได้แก่ Bonny Light, Bonga, Qua lboe และ Forcados เดือน มี.ค. 63 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 34,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 922,000 บาร์เรลต่อวัน
  • บริษัท ExxonMobil ส่งออกน้ำมันดิบ Liza ซึ่งเป็นน้ำมันดิบ Light Sweet จากประเทศกายานาในอเมริกาใต้ ปริมาณ 1 ล้านบาร์เรล เพื่อนำเข้ากลั่นที่โรงกลั่นของบริษัทบริเวณ U.S. Gulf Coast ทั้งนี้แหล่งน้ำมันดิบดังกล่าวผลิตน้ำมันที่ 120,000 บาร์เรลต่อวัน และจะเพิ่มสู่ระดับ 750,000 บาร์เรลต่อวัน ในปี พ.ศ. 2568
  • Energy Information Administration (EIA) ของสหรัฐฯ คาดการณ์ปริมาณการผลิต Shale Oil จาก 7 แหล่งผลิตสำคัญ ในเดือน ก.พ. 63 เพิ่มขึ้น จากเดือนก่อน 22,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 9.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยแหล่ง Permian เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 45,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 4.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • Baker Hughes Inc. รายงานจำนวน Rig ขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 24 ม.ค. 63 เพิ่มขึ้น จากสัปดาห์ก่อน 3 แท่น มาอยู่ที่ 676 แท่น เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่สอง

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก

  • 20 ม.ค. 63 บริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบีย (NOC) ประกาศเหตุสุดวิสัย (Force Majeure) การส่งมอบน้ำมันดิบจากแหล่ง Sharara (กำลังการผลิต 300,000 บาร์เรลต่อวัน) และ El Feel (กำลังการผลิต 120,000 บาร์เรลต่อวัน) และวันที่ 23 ม.ค. 63 ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบลดลงสู่ระดับ 320,000 บาร์เรลต่อวัน จากเดิมซึ่งอยู่ที่ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ก่อนกองกำลัง LNA ของนายพล Khalifa Haftar ยึดท่าส่งออก
  • EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 17 ม.ค. 63 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 400,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 428.1 ล้านบาร์เรล
  • ICE รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ Brent ในตลาดลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 21 ม.ค. 63 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับสถานะถือครองสุทธิ (Net Long Position) เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 2,828 สัญญา มาอยู่ที่ 428,990 สัญญา
  • CFTC รายงานสถานะการลงทุนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ในตลาดนิวยอร์กและตลาดลอนดอน สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 21 ม.ค. 63 กลุ่มผู้จัดการกองทุนปรับ Net Long Position เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 6,811 สัญญา มาอยู่ที่ 274,347 สัญญา

แนวโน้มราคาน้ำมัน

ราคาน้ำมันดิบลดลงหลังนักลงทุนกังวลต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ลุกลาม และอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและอุปสงค์น้ำมัน  ล่าสุดมีผู้เสียชีวิตในจีนกว่า 80 ราย รัฐบาลจีนประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับสูงสุดโดยนายกรัฐมนตรี Li Keqiang เป็นหัวหน้าทีมแก้วิกฤติไวรัสโคโรนา อนึ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจีนกล่าวว่าวันที่ 24 ม.ค. 63 ซึ่งเป็นวันแรกของเทศกาลตรุษจีน การเดินทางของประชาชนด้วยยานพาหนะทุกชนิดลดลงจากปีก่อน  28% และ วันที่ 25 ม.ค. 63 รัฐบาลจีนสั่งให้บริษัทตัวแทนท่องเที่ยวทั้งหมดหยุดดำเนินกิจกรรมท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ อย่างไรก็ดีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ซาอุดีอาระเบีย เจ้าชาย Abdullaziz bin Salman ประกาศซาอุดีอาระเบียพร้อมใช้มาตรการทุกชนิดรวมทั้งการลดปริมาณการผลิตเพิ่มเติมจาก 1.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ที่จะครบกำหนดในเดือน มี.ค. 63 ซึ่งการประชุม OPEC+ จะมีขึ้นในวันที่ 5-6 มี.ค. 63 ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ให้ติดตามตัวเลข PMI ภาคการผลิตและบริการของจีน เดือน ม.ค. 63 ที่จะประกาศวันที่ 31 ม.ค. 63 เพื่อประเมินผลกระทบของโรคระบาดต่อเศรษฐกิจจีน และการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐ (Federal Open Market Committee: FOMC) ในวันที่ 28-29 ม.ค. 63 ด้านเทคนิคสัปดาห์นี้คาดว่า ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 58-63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 51-56 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubai จะะเคลื่อนไหว  อยู่ในกรอบ 58.5- 63.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน

ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงจากแรงขายของจีนและมาเลเซีย และกรมศุลกากรจีนรายงานอุปสงค์น้ำมันเบนซินของจีน ที่ไม่รวมการเก็บสำรอง (Apparent Demand) เดือน ธ.ค. 62 ลดลง  1.6% จากปีก่อน มาอยู่ที่ 2.89 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ปริมาณส่งออกน้ำมันเบนซิน ในปี พ.ศ. 2562 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 27 % อยู่ที่ 381,000 บาร์เรลต่อวัน ประกอบกับ EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 17 ม.ค. 63 เพิ่มขึ้น  จากสัปดาห์ก่อนหน้า 1.7 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 260 ล้านบาร์เรล สูงสุดเป็นประวัติการณ์ อย่างไรก็ดี  International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซิน สัปดาห์สิ้นสุด 22 ม.ค. 63 ลดลงจากเดือนก่อน 160,000 บาร์เรล อยู่ที่ 12.97 ล้านบาร์เรล ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้ คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 64.5-69.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล

ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยรายสัปดาห์ลดลงจากแรงขายของจีน และไต้หวัน ประกอบกับกรมศุลกากรของจีนรายงาน    อุปสงค์น้ำมันดีเซลที่ไม่รวมการเก็บสำรอง (Apparent Demand) เดือน ธ.ค. 62 ลดลงจากปีก่อน 0.9 % อยู่ที่ 3.18 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ  โรงกลั่นอิสระของจีนกลั่นน้ำมันในเดือน ธ.ค. 62 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 3 % อยู่ที่ระดับ 1.95 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยใช้น้ำมัน ESPO จากรัสเซียกลั่นมากที่สุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 3 % ที่ 475,000 บาร์เรลต่อวัน  ด้านปริมาณสำรอง IES รายงานปริมาณสำรอง Middles Distillates สัปดาห์สิ้นสุด 22 ม.ค. 63 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า 700,000 บาร์เรล อยู่ที่ 10.82 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม Arbitrage น้ำมันดีเซลจากภูมิภาคตะวันออกไปยังตะวันตกเปิด  และ EIA รายงานปริมาณสำรอง Distillates เชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 17 ม.ค. 63 ลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า 1.2 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 146 ล้านบาร์เรล ทางเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 69.5-74.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล