ชป.ย้ำน้ำกินน้ำใช้มีเพียงพอ แต่ทุกฝ่ายต้องร่วมใจกันใช้น้ำอย่างประหยัดและใช้น้ำตามแผนฯที่วางไว้

กรมชลประทาน คุมเข้มการใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำ โดยเฉพาะอ่างฯที่มีน้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 ย้ำทุกโครงการชลประทาน ให้เฝ้าระวังและควบคุมการใช้น้ำให้เป็นไปตามแผนที่จัดสรรไว้ พร้อมวอนขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุด ลดเสี่ยงขาดแคลนน้ำในอนาคต

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึง สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศว่า ปัจจุบัน(25 ม.ค. 63) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 44,970 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 59 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 21,169 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 40 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 10,558 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 42 ของความจุอ่างฯ มีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 3,862 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 21 ของปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน

“สำหรับเขื่อนขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำใช้การได้น้อยกว่าร้อยละ 30 ของความจุอ่างฯ ปัจจุบันมีทั้งหมด 15 แห่ง ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนแม่มอก เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนลำพระเพลิง เขื่อนมูลบน เขื่อนลำแซะ เขื่อนลำนางรอง เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนทับเสลา เขื่อนกระเสียว เขื่อนคลองสียัด และเขื่อนหนองปลาไหล กรมชลประทาน จะบริหารจัดการน้ำอย่างเคร่งครัด ตามแผนจัดสรรน้ำที่ได้กำหนดไว้ร่วมกันกับกลุ่มผู้ใช้น้ำและกลุ่มเกษตรกรที่ใช้น้ำจากเขื่อนเหล่านี้ โดยจะเน้นการส่งน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค น้ำเพื่อผลิตประปา และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดนี้ เพียงพอใช้ไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้าภายใต้เงื่อนไขที่ทุกภาคส่วนจะต้องช่วยกันใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุด ด้านสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าตลอดตามแนวแม่น้ำสายหลักต่างๆ ขอให้ใช้น้ำตามแผนที่กรมชลประทานวางไว้เท่านั้น เพื่อที่จะควบคุมการใช้น้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด ให้เพียงพอใช้ตลอดฤดูแล้งนี้ต่อเนื่องไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้าด้วยเช่นกัน” ดร.ทองเปลวฯกล่าวในที่สุด

…………………………………………….

ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

25 มกราคม 2563