“รมช.ประภัตร” เดินหน้าพัฒนาศูนย์ข้าวชุมชน ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี ตั้งเป้า 100 ตันต่อศูนย์ ย้ำ! ต้องตื่นตัวแข่งขันกับตลาดเพื่อนบ้าน

นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บรรยายพิเศษ หัวข้อ “นโยบายด้านการผลิตข้าวและการสร้างความเข้มแข็งให้แก่องค์กรชาวนา” ในการสัมมนาชี้แจงโครงการเสริมสร้างศักยภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวของศูนย์ข้าวชุมชน ปี 2563 ณ โรงแรมอิงธารรีสอร์ท จังหวัดนครนายก ว่า ศูนย์ข้าวชุมชน ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะต้อง ผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพดีให้ได้และเพียงพอกับความต้องการใช้ในแต่ละปี โดยในปีนี้ได้มีการสนับสนุนศูนย์ข้าวชุมชนอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งด้านเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี จากกรมการข้าว ศูนย์ละ 3 ตัน ระบบการควบคุมคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าวของศูนย์ข้าวชุมชน รวมไปถึงการถ่ายทอดความรู้ด้านการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีให้แก่สมาชิกที่เข้าร่วมโครงการ และที่สำคัญเป็นปีแรกที่ได้งบประมาณในการจัดซื้อเครื่องอบลดความชื้นเมล็ดพันธุ์ข้าว จำนวน 20 ชุด และเครื่องคัดทำความสะอาดเมล็ดพันธุ์ข้าว จำนวน 200 ชุด ให้แก่ศูนย์ข้าวชุมชนที่เข้าร่วมโคงการ และคาดว่าจะได้รับการสนับสนุนให้แก่ศูนย์ข้าวชุมชนเพิ่มขึ้นในปีต่อไป ซึ่งจะส่งผลให้พัฒนาศักยภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีให้มีปริมาณเพิ่มขึ้นเพียงพอต่อความต้องการของชุมชน โดยมีเป้าหมายให้ศูนย์ข้าวชุมชนผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวได้ไม่น้อยกว่า 100 ตันต่อศูนย์

นายประภัตร กล่าวต่อไปว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ทำนา 60 ล้านไร่ เกษตรกรเกือบ 30 ล้านคน มีความต้องการเมล็ดพันธุ์ 1.5 ล้านตัน ซึ่งยังมีปัญหาขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ อีกทั้งมีการแข่งขันสูงขึ้น ประเทศเพื่อนบ้านเป็นผู้ส่งออกข้าวมากขึ้น จึงต้องวิจัยหาพันธุ์ที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ และมีคุณภาพ อย่างไรก็ตามสถานการณ์การส่งออกข้าวปัจจุบันนี้ จากเดิมส่งออก 11 ล้านตัน ปัจจุบันส่งออกเพียง 7 ล้านตัน จึงได้เน้นย้ำให้ศูนย์ฯ เร่งผลิตเมล็ดพันธุ์ให้เพียงพอ และต้องตื่นตัวให้มากขึ้น

“วันนี้ได้เน้นย้ำให้ศูนย์ข้าวทุกแห่ง ได้ตระหนักถึงความสำคัญของศูนย์ข้าวชุมชนซึ่งผมได้ตั้งไว้เมื่อปี 2543 ในขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ โดยให้กลับมาฟื้นฟูให้มีศักยภาพ ผลิตให้เพียงพอกับความต้องการ เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายจากการซื้อเมล็ดพันธุ์ปลอม ซึ่งปีนี้ขอให้เร่งผลิตให้ได้ศูนย์ละ 100 ตัน หรือมากกว่า โดยใช้เงินทุนจากโครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ และกิจการที่เกี่ยวเนื่อง สำหรับเมล็ดพันธุ์ที่จะนำไปแจกให้กับเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติในช่วงที่ผ่านมานั้น ขอยืนยันว่ามีเพียงพอประมาณ 60,000 ตัน กำหนดไร่ละ 10 กิโลกรัม พื้นที่ 6 ล้านไร่ ซึ่งจะเริ่มคิกออฟแจกในเดือน มี.ค. นี้ เพื่อรองรับการทำนาปี อย่างไรก็ตาม กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าฤดูฝนปีนี้จะมีปริมาณน้อยกว่าเกณฑ์ กระทบกับการทำการเกษตร ดังนั้นจึงเตรียมรับมือโดยผลิตเมล็ดพันธุ์ให้เพียงพอแก่เกษตรกร และใช้ระบบน้ำบาดาล ซึ่งได้รับความร่วมมือจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเข้ามาช่วยในด้านการอุปโภคบริโภคเป็นอันดับแรกก่อน

ทั้งนี้ จากรายงานผลกระทบด้านการเกษตรภัยแล้ง ช่วง ก.ย. 62 – ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 20 ม.ค. 63) จังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินแล้ว 20 จังหวัด จำนวน 106 อำเภอ 592 ตำบล   ได้แก่ จังหวัดเชียงราย น่าน เพชรบูรณ์ อุทัยธานี อุตรดิตถ์ พะเยา สุโขทัย นครพนม มหาสารคาม บึงกาฬ หนองคาย บุรีรัมย์ กาฬสินธุ์ นครราชสีมา สกลนคร กาญจนบุรี ฉะเชิงเทรา ชัยนาท นครสวรรค์ และจังหวัดสุพรรณบุรี และอยู่ระหว่างผู้ว่าราชการจังหวัดลงนามในประกาศเขตฯ 1 จังหวัด คือ จังหวัดขอนแก่น ส่วนผลกระทบด้านการเกษตรในเบื้องต้นด้านพืช ประสบภัย 23 จังหวัด เกษตรกร 252,699 ราย พื้นที่คาดว่าจะเสียหาย 2,272,699 ไร่ สำรวจพบความเสียหายแล้ว 20 จังหวัด เกษตรกร 111,120 ราย พื้นที่เสียหาย 1,152,596 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 1,012,978 ไร่ พืชไร่ 139,041 ไร่ พืชสวนและอื่นๆ 578 ไร่ คิดเป็นวงเงิน 1,288.04 ล้านบาท จ่ายเงินช่วยเหลือแล้ว เกษตรกร 1,011 ราย พื้นที่ 5,770 ไร่ เป็นเงิน 6.43 ล้านบาท

ด้านนายสุดสาคร ภัทรกุลนิษฐ์ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมการข้าว มีแนวทางในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ศูนย์ข้าวชุมชน ให้สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีไว้ใช้เองอย่างเพียงพอและต่อเนื่องในชุมชน รวมทั้งเป็นศูนย์กลางถ่ายทอดเทคโนโลยีการพัฒนาการผลิตข้าวและชาวนา กำหนดแนวทางการผลิตข้าวอย่างเป็นระบบ และมีการบริหารจัดการที่ดี โดยในปี 2563 ได้มีการจัดทำโครงการเสริมสร้างศักยภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวของศูนย์ข้าวชุมชน ปี 2563 เพื่อเสริมสร้างศักยภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีให้แก่ ศูนย์ข้าวชุมชน จำนวน 400 แห่ง ให้สามารถผลิตได้ไม่น้อยกว่า 100 ตันต่อศูนย์ โดยเน้นส่งเสริมการสร้างเครือข่ายให้เชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ พร้อมสนับสนุนปัจจัยการผลิตที่สำคัญ คือเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีจากกรมการข้าว สำหรับเป็นหัวเชื้อ พัฒนาระบบการควบคุมคุณภาพเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดี รวมไปถึงการถ่ายทอดความรู้ด้านการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดีให้แก่สมาชิกที่เข้าร่วมโครงการทั้งนี้ กรมฯ ยังได้มีการส่งเสริมให้ศูนย์ข้าวชุมชน ทำการขายแบบออนไลน์ เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางการตลาดอีกด้วย