ไทย-สหภาพยุโรป พร้อมมุ่งสู่ความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ ขยายการค้าการลงทุนสอดรับไทยแลนด์ 4.0 และการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4

เมื่อวันศุกร์ที่ 6 กรกฎาคม 2561 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์) ได้เป็นองค์ปาฐก ในงานเปิดตัว European Business Position Paper ของปี 2018 ณ โรงแรมสยามเคมปินสกี้ กรุงเทพฯ ซึ่งจัดโดยสมาคมการค้ายูโรเปียนเพื่อธุรกิจและการพาณิชย์ (European Association for Business and Commerce: EABC)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ชี้ให้เห็นว่าความเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วของเศรษฐกิจและสังคม เป็นผลมาจากเทคโนโลยีและดิจิทัล ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าของประเทศ โดยกระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการค้าและพัฒนาเศรษฐกิจไทยไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ตามนโยบาย Thailand 4.0 กระทรวงพาณิชย์ มีความมุ่งมั่นที่จะอำนวยความสะดวกและสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้ออำนวยต่อการทำธุรกิจ โดยสร้างโอกาสด้านการค้าการลงทุนแก่ผู้ประกอบการทุกภาคส่วน รวมทั้งผู้ประกอบการต่างชาติ และผลักดันตนเองสู่การเป็น “e-Ministry” อาทิ การลดขั้นตอนด้านเอกสาร การปรับกฎหมาย/กฎระเบียบให้สอดคล้องกับธุรกิจรูปแบบใหม่ การส่งเสริมการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาในเชิงพาณิชย์ การให้บริการออนไลน์ เพื่อสร้างความเป็นธรรม สร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน และการเติบโตอย่างทั่วถึง

นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยังได้กล่าวถึงความสำเร็จของการเยือนสหราชอาณาจักรและสาธารณรัฐฝรั่งเศสของนายกรัฐมนตรี และผู้บริหารระดับสูง ระหว่างวันที่ 20-26 มิถุนายน ที่ผ่านมา ว่าได้มีการพบปะนักลงทุนชั้นนำของทั้ง 2 ประเทศ  ซึ่งประเทศไทยได้ใช้โอกาสนี้ให้ความสำคัญถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โอกาสและแนวทางการขยายการค้าและการลงทุน รวมทั้งโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC)

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้กล่าวว่า การจัดงานวันนี้ จะเป็นการช่วยเน้นย้ำความสัมพันธ์ในฐานะหุ้นส่วนทางภูมิศาสตร์ระหว่างไทย-สหภาพยุโรป โดยที่ทั้งสองฝ่ายมีศักยภาพที่จะร่วมมือขยายการค้าการลงทุนได้อีกมาก ผ่านกลไกความร่วมมือต่างๆ โดยสาขาเทคโนโลยีและ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ดิจิทัล โดยที่ไทยจะได้ทำงานอย่างใกล้ชิดมากขึ้นกับกลุ่มนักธุรกิจจากยุโรป และสมาคม EABC ต่อไป เพื่อขับเคลื่อนการค้าสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ร่วมกัน

นายคริสเตียน วิดมานน์ (Mr. Christian Wiedmann) รองประธานสมาคมการค้ายูโรเปียนเพื่อธุรกิจและการพาณิชย์ กล่าวว่า สมาคมฯ มีวัตถุประสงค์ในการเสริมสร้างบรรยากาศทางธุรกิจ อำนวยความสะดวกด้านการลงทุน และเพิ่มโอกาสในการเข้าสู่ตลาดของภาคธุรกิจยุโรปในประเทศไทย โดยได้จัดทำ Business Position Paper เป็นประจำทุกปี เพื่อรวบรวมข้อเสนอแนะเชิงนโยบายจากภาคธุรกิจยุโรปในประเทศไทยครอบคลุม12 สาขา อาทิ ยานยนต์ เศรษฐกิจดิจิทัล ทรัพย์สินทางปัญญา การขนส่งและโลจิสติกส์ ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวจะช่วยผลักดันการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นตลาดการค้าและการลงทุนที่มีศักยภาพสูงสำหรับภาคธุรกิจยุโรป

ในโอกาสนี้ ฯพณฯ เอกอัคราชทูต เปียร์ก้า ตาปิโอลา (H.E. Mr Pirkka Tapiola) เอกอัครราชทูตสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ได้กล่าวเสริมว่า ไทยและสหภาพยุโรป มีความสัมพันธ์อันดีทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยสหภาพยุโรปเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับที่ 3 ของไทย ในปี 2559 มีการลงทุนทางตรงในประเทศไทยสูงถึง 17 พันล้านยูโร มีนักท่องเที่ยวจากสหภาพยุโรปเป็นจำนวนมากและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในขณะที่เศรษฐกิจไทยก็มีการขยายตัวสูงตั้งแต่ปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะยังคงขยายตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นสัญญาณที่ดีต่อการพัฒนาความร่วมมือระหว่างกัน โดยเฉพาะด้านการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง (Advance Manufacturing) อาทิ หุ่นยนต์ (Robotics) โลจิสติกส์ (Logistics) และการพัฒนาระบบนิเวศการค้าการลงทุน (Ecosystem) ที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจการค้ายุคใหม่ ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวจะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการทั้งในประเทศไทยและสหภาพยุโรปได้รับผลประโยชน์ร่วมกันภายใต้ระบบเศรษฐกิจการค้าที่เสรีและเป็นธรรม (Open Economy and Rule of Laws) และเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของรัฐบาลไทยในการปฏิรูปประเทศตามยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ได้ในที่สุด

ปัจจุบัน มูลค่าการค้าไทย-สหภาพยุโรปในปี 2560 อยู่ที่ 44,302 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.4 จากปีก่อนหน้า คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 9.6 ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของไทย โดยสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และไก่แปรรูป ขณะที่สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องบิน เครื่องร่อน อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์