สาระสุขภาพ : 5 อาหาร-สมุนไพรทางเลือกสู้ฝุ่น PM 2.5 โดย โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

สถานการณ์ฝุ่นละออง หมอกควัน PM 2.5 ที่กำลังกลับมาสร้างปัญหาทางสุขภาพให้กับประชาชนอีกครั้ง  หากไม่หาทางรับมือและป้องกันอาจจะก่อให้เกิดภาวะเสี่ยงในโรคระบบทางเดินทางหายใจในระยะยาวได้ ในทางพื้นบ้านพบว่ามีสมุนไพรหลายชนิดที่ช่วยในการดูแลปอด ต้านพิษ รวมถึงดูแลระบบภูมิคุ้มกัน ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจาก PM 2.5  ทั้งนี้จาการศึกษาข้อมูลพบสมุนไพรใกล้ตัวที่ใช้เป็นทั้งยาและอาหาร มีความปลอดภัยและเป็นทางเลือกในการดูแลสุขภาพในสถานการณ์นี้ จำนวน 5 ชนิด ดังนี้

  1. หญ้าดอกขาว หรือหญ้าหมอน้อย

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cyanthillium cinereum (L.)

ที่มีผลการวิจัยรองรับ ถึงแม้จะไม่ได้เป็นการศึกษาผลต่อ PM 2.5. โดยตรงก็สามารถประยุกต์จากองค์ความรู้ที่มีปัจจุบันและประสบการณ์การใช้ของหมอพื้นบ้าน และหญ้าดอกขาวจัดเป็นสมุนไพรที่มีความปลอดภัยสูง อีกทั้งยังถูกบรรจุให้อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ.2554 โดยแนะนำให้เลือกใช้ในกรณีที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงจากมลภาวะ หรือ. PM 2.5 ได้

ในงานวิจัยพบว่าสารสกัดหญ้าดอกขาวความเข้มข้น 10.09% มีฤทธิ์ลดการอักเสบในหนูที่ได้รับนิโคตินเป็นเวลายาวนานกว่า 6 เดือน พบว่าช่วยฟื้นฟูพยาธิสภาพของปอดให้กลับมาเป็นปกติได้  อีกทั้งยังมีการศึกษาว่าช่วยลดคาร์บอนมอนนอกไซด์ที่คั่งค้างในปอด และลดการกระจายตัวของเซลล์มะเร็งปอดได้ ซึ่งน่าจะมีประโยชน์ในสถานการณ์ที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงจาก PM 2.5 ได้ หญ้าดอกขาวเป็นสมุนไพรที่หาง่ายและมีความปลอดภัย

  1. ขมิ้นชัน

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Curcuma longa L.

ที่มีความโดดเด่นเรื่องลดอักเสบ ผลการศึกษาพบว่า ขมิ้นชันมีผลในการปกป้องระบบหัวใจหลอดเลือด-ปอด  นับเป็นสมุนไพรที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง สูงกว่าวิตามินอี ถึง 80 เท่า เป็นสมุนไพรที่คนทั่วโลกรู้จักดี มีการนำมาวิจัยโดยนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลก พบว่า นอกจากต้านอนุมูลอิสระแล้ว ยังช่วยลดการอักเสบ ป้องกันการเกิดโรเรื้อรัง การวิจัยในประเทศสิงคโปร์ ในผู้สูงอายุเชื้อสายจีนจำนวน 2,487 คน พบว่า การกินแกงที่มีส่วนผสมของขมิ้นชัน อย่างน้อย เดือนละ 1 ครั้งช่วยชะลอการทำงานของปอดไม่ให้ลดลงในผู้ที่สูบบุหรี่ ซึ่งปอดนับเป็นอวัยวะเป้าหมายของฝุ่นพิษ การบริโภคอาหารจากขมิ้นชัน จึงเป็นสิ่งที่ควรทำเพราะหาได้ง่ายและมีความปลอดภัยสูง

  1. รางจืด

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Thunbergia laurifolia L.

เป็นสมุนไพรที่โดดเด่นเรื่องการล้างพิษ เช่นเดียวกับ หญ้าดอกขาว โดยรางจืดมีงานวิจัยในหนูทดลองยืนยันว่า สามารถปกป้องอวัยวะจากสารพิษชนิดโลหะหนักได้ ซึ่งพบได้ใน PM 2.5 มีวิธีการทาน คือ รับประทานวันละ 3 ครั้ง ครั้งละ 2 แคปซูล ก่อนอาหาร หรือชงครั้งละ 2-3 กรัม (1-2 ซอง) ในน้ำร้อน 120-200 มิลลิลิตร วันละ 3 ครั้งก่อนอาหาร  หรือทานเมื่อมีอาการ เนื่องจากรางจืดเป็นยาที่มีฤทธิ์เย็น ควรเว้นระยะเวลาในการทานให้ห่างจากยารักษาโรคประจำตัว อย่างน้อย 2 ชั่วโมง และไม่ควรทานติดต่อกันเกิน 1 เดือน

  1. มะขามป้อม

ชื่อวิทยาศาสตร์ :  Phyllanthus emblica L.

หมอยาพื้นบ้านเชื่อว่ามะขามป้อมเป็นยาละลายเสมหะและบำรุงเสียงได้ดีที่สุด ในด้านอายุระเวทใช้แก้ไอ แก้หอบ รักษาหลอดลมอักเสบ จากงานวิจัยพบว่า การกินมะขามป้อม ช่วยลดผลกระทบจากก๊าซพิษซัลเฟอร์ไดออกไซด์อันเป็นแหล่งกำเนิดของ PM 2

ปัจจุบันมีรายงานระบุในช่วง PM 2.5 ระบาด กินอาหารที่มีมะขามป้อมหรือขมิ้นในปริมาณสูง เป็นที่ทราบกันดีว่าเมื่อฝุ่นละอองขนาดเล็กเหล่านี้เข้าไปสู่ทางเดินหายใจจะทำให้เกิดการอักเสบ ของทางเดินหายใจ และระบบหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญ หากมีการสัมผัสฝุ่นพิษเวลานานๆ แล้วภูมิคุ้มกันร่างกายไม่ดี ก็อาจนำไปสู่การเกิดมะเร็งได้ ดังนั้นอาหารที่เรากินทุกวันเพื่อมุ่งหวังในให้เกิดภูมิคุ้มกันที่ดี ลดการอักเสบ ลดการเกิดอนุมูลอิสระน่าจะมีประโยชน์

จากการวิจัยในปัจจุบันพบว่า มะขามป้อม มีองค์ประกอบทางเคมีในพืชที่มีประโยชน์หลายประการ ทั้ง วิตามินซี แทนนิน อัลคาลอยด์ และโพลีฟีนอล ยิ่งมะขามป้อมพันธุ์ไทยยิ่งมีโพลีฟีนอล ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระสูง มีการศึกษาในผู้ป่วยเบาหวาน จำนวน 88 คน พบว่าการได้รับการได้รับสารสกัดมะขามป้อมขนาด 250 และ 500 มก วันละ 2 ครั้งทำให้การทำงานของระบบหลอดเลือดดีพอ ๆ กับยา atrovasatin ดังนั้นในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ที่มีปัญหาหัวใจและหลอดเลือดก็สามารถที่นำมะขามป้อมมาใช้ในการปรุงอาหารได้ หรือจะดื่มน้ำมะขามป้อมก็ได้ ในช่วงที่มีฝุ่นพิษนี้ ยังมีการพบว่า น้ำหมักมะขามป้อมมีสารโพลีฟีนอล ซึ่งมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูง จากการศึกษาของ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร และสถาบันค้นคว้าและวิจัยอาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พัฒนาอาหารพรีไบโอติกส์จากมะขามป้อม พบว่ามีส่วนช่วยในการปรับระบบขับถ่าย และเปลี่ยนแปลงจุลินทรีย์ที่ดีในลำไส้ หรือโปรไบโอติกส์ ที่มีการวิจัยในระยะหลังว่าช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ร่างกายแข็งแรง และจะมีการพัฒนาต่อเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปในอนาคต

  1. ฟ้าทะลายโจร

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Andrographis paniculata (Burm.f.) Wall.ex Nees.

ที่มีความโดดเด่นเรื่องการเสริมภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะในระบบทางเดินหายใจ ในทางคลินิกใช้ป้องกันและรักษาหวัด ไซนัสอักเสบ ชนิดไม่รุนแรง หลอดลมอักเสบ คออักเสบ และ ทอนซิลอักเสบ  เป็นสมุนไพรที่ช่วยในเรื่องของการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาะภูมิคุ้มกันในระบบทางเดินหายใจ ในคลินิกมักใช้ป้องกันและรักษาอาการหวัด ไซนัสอักเสบชนิดไม่รุนแรง หลอดลมอักเสบ และคอหรือต่อมทอนซิลอักเสบ โดยวิธีการรับประทานฟ้าทะลายโจร คือ ทานวันละ 1 แคปซูล 5 วัน ต่อสัปดาห์ รับประทานต่อเนื่องได้ 3 เดือนแล้วควรหยุด หรือหากใช้ติดต่อกัน 3 วันแล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรหยุดทานและปรึกษาแพทย์ สตรีให้นมบุตรและสตรีมีครรภ์ไม่ควรทาน

การใช้สมุนไพรดังกล่าว สามารถร่วมกับการทำเวชปฏิบัติทางการแพทย์แผนไทย เช่นการสุมยาโดยใช้พวกเครื่องเทศ มาต้ม ไม่ใช้ความร้อนสูง บีบน้ำมะนาวนิด  สูดพ่นลดการระคายเคือง แต่หากมีอาการแล้ว การใช้หญ้าดอกขาว รางจืดหรือฟ้าทะลายโจรก็สามารถทำได้เพื่อบรรเทาอาการ เช่น หากมีอาการจับหอบหืด อยู่บ่อยๆในช่วงนี้ก็สามารถใช้หญ้าดอกขาวชงเป็นชา ร่วมกับรางจืด กิน 2-3 กรัม วันละ 2-3 ครั้ง โดยผู้ป่วยที่มีการทำงานของไตบกพร่อง หรือผู้ป่วยที่มีการทำงานของหัวใจผิดปกติ ควรหลีกเลี่ยงการใช้หญ้าดอกขาว หรือหากมีไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หรือไข้หวัด ก็ใช้ฟ้าทะลายโจรครั้งละ 1.5-3 กรัม วันละ 3-4 ครั้ง เมื่อไม่มีอาการก็หยุดรับประทานได้

ที่มา :นิตยสารThailand Plus

ขอบคุณข้อมูลจากศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร