สังคมเป็นสุข : รางวัลแด่ผู้ทำงานเพื่อช่วยเหลือให้คนกลับตัวเป็นคนดี สามารถแก้ปัญหาและช่วยเหลือตัวเองได้อย่างสมศักดิ์ศรี

การจัดการประกาศเกียรติคุณนักสังคมสงเคราะห์ดีเด่น โดย กรมพัฒนาสังคมละสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 จนถึงปัจจุบัน  เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรตินักสังคมสงเคราะห์ ผู้สร้างผลงานดีเด่น ให้เป็นที่ปรากฏแก่สาธารณชน เป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้แก่นักสังคมสงเคราะห์ และให้บุคคลทั้งหลายได้ยึดถือเป็นแบบอย่างที่ดี รวมถึงเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระดมความคิดเห็นระหว่างผู้ปฏิบัติงานด้านสังคมสงเคราะห์ ส่งเสริมความร่วมมือและประสานงานระหว่างสถาบันสังคมสงเคราะห์ต่าง ๆ ให้กว้างยิ่งขึ้น

ในปี 2561 เราได้มีโอกาสสัมภาษณ์ผู้ได้รับรางวัลนักสังคมสงเคราะห์ดีเด่นท่านหนึ่ง ซึ่งทำงานด้านสังคมมาโดยตลอด นับตั้งแต่เริ่มการศึกษาจากรั้วมหาวิทยาลัยจนถึงเข้าทำงาน และปัจจุบันถึงแม้จะดำรงตำแหน่งใหญ่โต ก็ยังไม่เคยห่างจากงานด้านสังคมดังเช่นเคย ท่านผู้นี้คือ นางบุษบา ศักรางกูร ผู้อำนวยการทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ จบการศึกษามาทางด้านสังคมสงเคราะห์โดยตรงทั้ง ป.ตรี ป.โทร ที่คณะสังคมสงเคราะห์ ที่ ม. ธรรมศาสตร์ และเข้ามาทำงานที่กรมราชทัณฑ์ในตำแหน่งนักสังคมสงเคราะห์ งานที่เกี่ยวข้องก็จะเป็นงานสังคมสงเคราะห์มาโดยตลอด ถึงแม้ว่าจะมาดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าหน่วยงานหรือผู้อำนวยการทัณฑสถาน ก็ยังทำงานทางด้านนี้มาโดยตลอดเช่นกัน   เพราะว่างานราชทัณฑ์เป็นงานช่วยเหลือคน การแก้ไขคนให้เค้ากลับตัวเป็นคนดี ช่วยเหลือตัวเองได้ เมื่อพ้นโทษ มีการมีงานทำ ก็เหมือนกับปรัชญาของงานสังคมสงเคราะห์ ที่ทำงานกับผู้มีปัญหาเพื่อให้เค้าสามารถแก้ปัญหาของเค้าได้ แล้วก็สามารถที่จะช่วยเหลือตัวเองได้”

“รางวัลที่ได้รับ เป็นรางวัลที่น่าภาคภูมิใจให้กับคนทำงานมาก มันไม่ได้มีราคา ไม่ได้มีค่าอย่างที่ทุกคนปรารถนา แต่เป็นความภาคภูมิใจต่อสิ่งที่ผ่านมา หรือผลงานที่สร้างมา คือคนที่ได้รับรางวัล ก็ต้องเสนอผลงานที่ตนเองทำ แล้วจะได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการ แต่อาจจะยังมีอีกหลาย ๆ คน ที่มีผลงานแล้วอาจจะยังไม่เข้าตากรรมการ รางวัลที่ได้รับมันเป็นกำลังใจ ว่าในสิ่งที่ทำมานี้ เป็นสิ่งที่จะต้องทำต่อ จนสังคมยอมรับ สังคมเห็นคุณค่าในงานที่เราทำ จนได้มอบรางวัลให้เป็นความภูมิใจกับคนทำงาน”

ตามหาข้อเท็จจริง การวิเคราะห์ การให้ความช่วยเหลือ การติดตามประมวลผล คือหลักการทำงานด้านสังคมสงเคราะห์  ก็ใช้วิธีการนี้มาทำงานกับผู้ต้องขังในเรือนจำ

ผอ.บุษบา เปิดเผยถึงการทำงานให้เราฟังว่า ในการทำงานถ้าในส่วนของเรือนจำ จะเหมือนกับกระบวนงานของสังคมสงเคราะห์ คือการหาข้อเท็จจริงจากผู้ต้องขัง หรือเราเรียกว่า การสัมภาษณ์ การจำแนกลักษณะผู้ต้องขัง เราจะดูว่าผู้ต้องขังมีการกระทำผิดอย่างไร ถึงเวลาเมื่อพ้นโทษไปแล้ว จะไปประกอบอาชีพอะไร เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราปฏิบัติกับเขานั้น เราก็จะให้ตรงกับความต้องการของเขามากที่สุด หรือผู้ต้องขังที่ไม่เคยมีพื้นฐานความรู้ด้านวิชาชีพหรือวิชาสามัญต่าง ๆ เราก็จะสนับสนุนให้เขาได้เรียนหนังสือ แล้วก็ถ้าเป็นวิชาชีพก็ต้องเป็นวิชาชีพที่เขาต้องการจะทำหลังจากพ้นโทษไป และมีอีกกระบวนการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยตัว ยกตัวอย่างผู้ต้องขังที่ได้ฝึกวิชาชีพนวดแผนไทย ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่เรามีสถานฝึกทักษะนวดแผนไทยที่อยู่นอกเรือนจำ เราก็นำผู้ต้องขังที่ผ่านการฝึกวิชาชีพนวดแผนไทย ที่มีระยะเวลาจำคุกไม่เกิน 3 ปี 6 เดือน อยู่ในเกณฑ์ที่กรมราชทัณฑ์พิจารณาจ่ายออกทำงานภายนอกเรือนจำได้ เราก็พาไปทำงานที่สถานฝึกทักษะชีพ เพื่อให้เค้าได้ฝึกประสบการณ์จากการทำงานจริง กับผู้มาใช้บริการเพื่อสร้างความมั่นใจ และสุดท้ายของกระบวนงาน ก็คือการติดตามหลังพ้นโทษ อาจจะประสานเครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประสานหน่วยงานในพื้นที่ หรือแม้แต่เจ้าหน้าที่ของเราที่เป็นนักสังคมสงเคราะห์ก็ติดตามอย่างนี้เป็นต้น

ที่จริงถ้าเราทำงานในเรือนจำเราคาดหวังว่าเมื่อเขาเข้ามาอยู่ในเรือนจำแล้ว เขาคงจะเบื่อหน่ายหรือเข็ดกับสภาพที่เค้าถูกจำกัด ในเรื่องของสิทธิการบางอย่าง หรือเสรีภาพ อิสระ เขาหน้าจะเข็ดกับตรงนั้นแล้ว ถ้าออกไปจากเรือนจำก็น่าจะกลับเนื้อกลับตัวได้ เป็นคนดีของสังคม แล้วไม่เข้ามาติดซ้ำ เป็นความคาดหวังของเรือนจำทุกเรือนจำ”

ผอ.บุษบา กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในแง่ของการทำงานด้านสังคมสงเคราะห์ก็จะมีอยู่ 3 ประเภท แยกเป็นการทำงานที่เรียนมาโดยตรงคือเป็นวิชาชีพ แล้วก็เป็นนักสังคมสงเคราะห์วิชาชีพ (โดยอาชีพ) อีกกลุ่มเป็นผู้ปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์ และอีกกลุ่มเป็นอาสาสมัคร ทั้ง 3 กลุ่ม เป้าหมายคือการทำงานเพื่อช่วยเหลือคน คือทำงานกับคนในทุกกลุ่ม ทุกประเภท ในส่วนของผู้ปฏิบัติงานกับอาสาสมัครต้องชื่นชม 2 กลุ่มนี้มาก ๆ เพราะว่าเขาไม่ได้เรียนมาโดยตรง แต่มีใจที่จะช่วยในการทำงาน การทำงานในสายของวิชาชีพ เราต้องพึ่งคนที่เป็นอาสาสมัคร หรือพึ่งผู้ปฏิบัติงานค่อนข้างเยอะ นักสงเคราะห์วิชาชีพกับผู้ปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์ และอาสาสมัคร ต้องร่วมมือกันช่วยเหลือกัน ต้องขอบคุณผู้ปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์ และอาสาสมัคร ที่มีใจล้วน ๆในการปฏิบัติงาน” แม้แต่ในเรือนจำก็มีนักสังคมสงเคราะห์ที่จบสังคมเคราะห์โดยตรง ที่เป็นหัวหน้าฝ่ายสังคมสงเคราะห์  แต่เจ้าหน้าที่ที่อยู่ในฝ่ายไม่ได้จบสังคมสงเคราะห์มาโดยตรง ขึ้นอยู่กับกรอบอัตรากำลังด้วยขอบหน่วยงาน การทำงานในหน่วยงานเราก็ต้องร่วมกันระหว่างนักสังคมสงเคราะห์วิชาชีพกับผู้ปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์ ก็ต้องชื่นชมทั้งสองกลุ่มมาก ๆ ที่ทำให้สังคมหรือว่าบุคคลที่ด้อยโอกาส หรือ บุคคลที่เดือดร้อนได้รับการคลี่คลายแก้ปัญหา

นักจัดสวัสดิการและสังคมสงเคราะห์ผู้ต้องขัง ลดการประทับตรา และลดการตำหนิตัวเอง นั่นคือสิ่งที่เราต้องทำ

ผอ.บุษบา ยังกล่าวอีกว่า นอกเหนือจากแนวทางการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังที่เราได้เข้าถึงและพัฒนาเขาเหล่านั้นก่อนออกไป เรายังให้ความสำคัญในเรื่องของ “การจัดสวัสดิการ หมายถึงสิ่งที่รัฐให้กับผู้ต้องขัง ก็คือการกินอยู่ เจ็บไข้ ได้ป่วย มีหมอรักษา เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มต่าง ๆ เหล่านี้ คือสิ่งรัฐจัดให้ แต่อีกส่วนหนึ่งคือในเรื่องของ “การสงเคราะห์” การช่วยเหลือผู้ต้องขังที่เขาอาจมีปัญหาเรื่องอื่น ๆ ระหว่างที่ต้องโทษอยู่ในเรือนจำ ยกตัวอย่างเมื่อถูกจับมาญาติพี่น้องไม่รู้ เราก็ติดต่อญาติให้ หรือในเรื่องการเรียน ให้เราประสานในเรื่องขอหลักฐานการศึกษา เพื่อมาใช้ในการเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นระหว่างที่อยู่ในเรือนจำเราทำให้ หรือในกรณีที่ว่า เป็นห่วงลูก ลูกอยู่กับใคร ก็ให้เราติดต่อให้ อย่างนี้คือการสงเคราะห์ หรือเมื่อพ้นโทษไม่มีเงินค่ารถกลับบ้าน เราก็ประสานงานติดต่อหน่วยงานในพื้นที่ อาจจะเป็นของ พม. ในพื้นที่  หรือกรมคุมประพฤติ สำนักงานคุมประพฤติ เรื่องของค่าพาหนะกลับภูมิลำเนาอย่างนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้นงานในส่วนของงานในเรือนจำ กระบวนการปฏิบัติก็คือ ตั้งแต่แรกต้นเข้ามาเราต้องรู้ประวัติ เป็นเพราะอะไร สาเหตุ ควรแก้ไข  ให้วิชาชีพ เตรียมปล่อย

“การลดการประทับตรา” การประทับตราเหมือนการตีตรา เช่น คนนี้เคยติดคุก สังคมอาจจะมองผู้ต้องขังหรือมองผู้พ้นโทษในเชิงลบ มองว่าออกจากคุกเหมือนเป็นการตีตรา ไม่ยอมรับเข้าทำงาน เดี๋ยวก็ทำผิดอีก ซึ่งส่วนนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากกับการทำงานในเรือนจำ สังคมต้องให้โอกาสเขาเหล่านั้น  เพราะถือว่า คนเราทำผิดกันได้ ไม่ได้เจตนา ถ้าสังคมยังตีตราเค้าอยู่ว่า “คนนี้ขี้คุก ออกมาไม่นาน เดี๋ยวก็กลับไปติดคุกอีก” เขาก็จะยืนไม่ได้สักที ถ้าสังคมไม่ให้โอกาส อย่างกรณีของทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ เรามีสถานฝึกทักษะอาชีพ เราต้องการให้สังคมได้เห็นว่า ถ้าผู้ต้องขังได้รับความรู้ มีการฝึกทักษะแล้วสามารถทำได้ สังคมให้การยอมรับ ให้โอกาส สิ่งเหล่านี้จะยิ่งสร้างความมั่นใจให้กับเขาว่า สิ่งที่เขามุ่งมั่นทุ่มเท มันถูกทางแล้ว สังคมต้องให้โอกาส ในขณะเดียวกันภายในเรือนจำเอง เราพยายามจัดกิจกรรมให้เขาเห็นคุณค่าในตัวเอง “การลดการตำหนิตัวเอง” บางคนมีความรู้สึกไม่มีค่า คนมองไม่เห็นค่า เมื่อเข้ามาในเรือนจำ เราจะมีแบบประเมินทางด้านสุขภาพจิต ว่าคนนี้ซึมเศร้าไหม ว่าคนนี้เป็นอย่างไร แล้วก็มาจัดกลุ่มผู้ต้องขัง แล้วดูเป็นราย ๆ ไป

ถ้าถามถึงสังคมปัจจุบัน ณ เวลานี้ดีขึ้นมาก คือมีหลายเครือข่ายพยายามเข้าถึงผู้ต้องขัง หรือผู้พ้นโทษในเชิงที่เป็นบวกมากขึ้น ให้โอกาสผู้ต้องขัง ให้ทุนประกอบอาชีพ หรือแม้แต่ทางสถาบันของพระมหากษัตริย์ และบรมวงศานุวงศ์ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องหรือเข้ามาประสานโครงการต่าง ๆ ภายในเรือนจำหรือให้กับกรมราชทัณฑ์ ก็เป็นสิ่งที่บ่งบอกสังคมว่า แม้แต่สถาบันฯ ก็ยังให้โอกาสทำโครงการหรือประทานโครงการกับผู้ต้องขัง เพราะฉะนั้นสังคมโดยรวมและปัจจุบันในความเห็นส่วนตัวก็ดีขึ้น

ผอ.บุษบา กล่าวทิ้งอย่างชื่นชมว่า “การทำงานสังคมสงเคราะห์ ของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการเอง ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส กลุ่มต่าง ๆ ในสังคม ไม่ว่าจะเป็นคนเจ็บไข้ได้ป่วย คนผู้สูงอายุ คนพิการ กลุ่มคนที่เดือดร้อนอยู่ในภาวะยาลำบาก หน่วยงานนี้เป็นหน่วยงานที่ทำงานกับคนที่เดือดร้อน อยากให้คนในสังคมได้เล็งเห็นถึงบทบาทหน้าที่ของกรมฯ และอยากจะให้คนในสังคมช่วยเหลือกัน ถ้าเราช่วยเหลือกันเองก่อนให้ได้มากที่สุด ก็จะเป็นการลดภาระของหน่วยงานรัฐได้มาก สังคมเราจะน่าอยู่ ถ้าเราช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

ที่มา:นิตยสารThailand Plus