วันที่ 21 มกราคม 2563, จังหวัดจันทบุรี – สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการใช้งาน “ช้างป่า i lert u” แอปพลิเคชันแจ้งเตือนภัยจากช้างป่า ในตำบลพวา อำเภอแก่งหางแมว หลังประสบปัญหาช้างป่าเข้าทำลายพืชผลทางการเกษตรและทำอันตรายบ่อยครั้ง ชี้แอปฯ จะช่วยลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น ขณะที่ชุมชนสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์ ก่อนวางแผนป้องกันการเผชิญหน้าระหว่างคนกับช้าง
นายพรชัย หอมชื่น ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มงานกิจการสาขา พร้อมด้วย นายวาฤทธิ์ ศิริพิทยาโรจน์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาชุมชน กลุ่มสังคมและกำลังคน สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่เทศบาลตำบลพวา ในอำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี เพื่อติดตามความก้าวหน้าการใช้งาน “ช้างป่า i lert u” แอปพลิเคชันแจ้งเตือนและประสานขอความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบปัญหาจากช้างป่า
ทั้งนี้ ประชาชนในพื้นที่ตำบลพวา ตลอดจนนักท่องเที่ยวประสบปัญหาช้างป่าเข้าทำลายพืชผลทางการเกษตรและทำอันตรายอยู่บ่อยครั้ง ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน เนื่องด้วยลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ป่าเขา มีแนวเขตติดต่อกับป่ารอยต่อ 5 จังหวัดในภาคตะวันออก ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่ของช้างป่าจำนวนมาก โดยตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมามีโขลงช้างป่าออกหากินนอกเขตป่า และรุกเข้าพื้นที่การเกษตร ซึ่งมีเกษตรกรถูกช้างป่าเข้าทำลายพืชผลทางการเกษตรมากกว่า 200 ราย คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 7 แสนบาท และก่อให้เกิดการกระทบกระทั่งระหว่างคนกับช้างมาโดยตลอด
นายพรชัย เปิดเผยว่า สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนและระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ตำบลพวาเป็นอย่างมาก โดยประชาชนที่ถูกช้างป่าเข้าทำลายพืชผลทางการเกษตรมีรายได้ลดลง บางส่วนไม่สามารถออกจากบ้านไปกรีดยางพาราในตอนกลางคืนได้ ส่งผลให้วิถีชีวิตเปลี่ยนไป และนั่นจึงเป็นที่มาของความร่วมมือระหว่าง ดีป้า กับ สภาองค์กรชุมชนตำบลพวา และ บริษัท เอนนี่แวร์ ทู โก จำกัด (ผู้ผลิตแอปพลิเคชัน i lert U และ Claim Di) ในการพัฒนาแอปพลิเคชัน “ช้างป่า i lert u” ขึ้น
“ดีป้า เล็งเห็นความสำคัญของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในชุมชน จึงได้ส่งเสริมและสนับสนุนโครงการการประยุกต์ใช้ระบบเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการแจ้ง
เตือนภัยช้างป่า โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะช่วยลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นจากการเผชิญหน้าระหว่างคนกับช้าง ภายใต้มาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อชุมชนในชนบท (depa Digital Transformation Fund for Community)” นายพรชัย กล่าว
ด้าน นายวาฤทธิ์ กล่าวว่า แอปพลิเคชัน “ช้างป่า i lert u” เป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการแจ้งเตือนภัยจากช้างป่าแก่อาสาชุดเฝ้าระวังช้างป่า ผู้นำชุมชน และประชาชนในพื้นที่ พร้อมประสานขอความช่วยเหลือจากผู้ที่เกี่ยวข้องได้อย่างฉับไว และทันเวลาก่อนเกิดการเผชิญหน้า
“แอปพลิชัน “ช้างป่า i lert u” สามารถดาวน์โหลดได้แล้วทั้งในระบบ Android และ iOS ซึ่งแอปพลิเคชันดังกล่าวใช้งานง่ายไม่ซับซ้อน โดยที่ผ่านมา ดีป้า เปิดอบรมวิธีการใช้งานให้พี่น้องประชาชนในพื้นที่ได้เรียนรู้กันไปแล้ว พร้อมกันนี้ ชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังสามารถนำข้อมูลจากระบบมาวิเคราะห์ เพื่อวางมาตรการป้องกันการเผชิญหน้าระหว่างคนกับช้างได้อย่างสอดคล้องและเหมาะสม โดยแอปพลิเคชันดังกล่าวจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น และทำให้คนกับช้างสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืนต่อไป” นายวาฤทธิ์ กล่าว