รมช.ธรรมนัส นำคณะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ตำบลบุดี อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ช่วยเหลือปัญหาขาดน้ำในการทำนาและส่งเสริมการปลูกพืชหลังนาเพื่อเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร

วันที่ 20 มกราคม 2563  นางสาวเบญจพร ชาครานนท์ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้แทนแปลงใหญ่ เกษตรกร รวมทั้งประชาชนในพื้นที่กว่า 200 คน ร่วมให้การต้อนรับ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า ในโอกาสเดินทางลงพื้นที่จังหวัดยะลา เพื่อตรวจเยี่ยม ติดตามความก้าวหน้าโครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และร่วมพบปะพูดคุยกับเกษตรกรเพื่อรับฟังปัญหาความเดือดร้อน

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับฟังการบรรยายสรุปผลการดำเนินงานกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ข้าวบุดี นำโดย นายซาการียา เดร์ ประธานกลุ่ม ปัจจุบันมีสมาชิก 116 ราย ในพื้นที่ 397 ไร่ ปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมือง ได้แก่ พันธุ์หอมมือลอ และพันธุ์เลือดปลาไหล โดยมีเป้าหมายหลัก คือ การลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต โดยการบริหารจัดการการไถเตรียมพื้นที่ ตรวจสอบคุณภาพดินเพื่อจัดการดิน ปุ๋ย สารกำจัดศัตรูพืช การใช้ปุ๋ยพืชสด น้ำหมักชีวภาพของกรมพัฒนาที่ดิน ในภาพรวมผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นเป็น 450 กก.ต่อไร่ และกลุ่มได้พัฒนาคุณภาพผลผลิตไปสู่เกษตรปลอดภัย GAP ซึ่งขณะนี้ได้การรับรองแล้ว 30 ราย รวมทั้งยังมีการแปรรูปผลผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่า เช่น ข้าวกล้อง คุกกี้ น้ำนมข้าว เป็นต้น สมาชิกมีรายได้เพิ่ม 2,000-3,500 บาทต่อครัวเรือน

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ร่วมพบปะกับเกษตรกรโดยกล่าวถึงนโยบายการแก้ปัญหาให้เกษตรกร โดยเฉพาะราคาพืชผลเกษตร ปัญหาที่ทำกิน ปัญหาแล้ง พร้อมรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรที่ต้องการให้ภาครัฐลงมาแก้ไข ทั้งนี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้สั่งการเร่งด่วน ให้จัดหาน้ำโดยใช้น้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ปลูกข้าวที่กำลังขาดน้ำ ของพื้นที่หมู่ 2 บ้านนิบง ซึ่งเป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน นอกจากนี้นางสาวเบญจพร ชาครานนท์ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่สถานีพัฒนาที่ดินยะลาประสานงานกับสำนักงานเกษตรจังหวัด ในการสนับสนุนการขุดสระน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน และการปลูกพืชหลังนาเพื่อเพิ่มรายได้

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวสนับสนุนโครงการทำนาแปลงใหญ่ตำบลบุดี ถือว่าเป็นตำบลตัวอย่างที่จะไปขยายและต่อยอดในตำบลอื่น ที่จะสนับสนุนให้เกษตรกร รวมกันเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน หรือรวมตัวเป็นกลุ่มสหกรณ์ ซึ่งภาครัฐจะสนับสนุนด้านความรู้และงบประมาณในการเพิ่มคุณภาพของผลิตผล ตลอดจนการตลาดรับซื้อได้ต่อไป