“ดีป้า” นำสื่อมวลชนติดตามความคืบหน้าโครงการพัฒนาระบบท่าเรืออัจฉริยะ โชว์แนวทางแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด ยกระดับการให้บริการท่าเรือแหลมฉบัง

20 มกราคม 2563, จังหวัดชลบุรี สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล จัดกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจร พร้อมลงพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง ติดตามความคืบหน้า “โครงการพัฒนาระบบท่าเรืออัจฉริยะ” แสดงศักยภาพในการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณท่าเรือ ควบคู่ไปกับการยกระดับการให้บริการทัดเทียมท่าเรือชั้นนำทั่วโลก

นายพรชัย หอมชื่น ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มงานกิจการสาขา พร้อมผู้บริหารและพนักงาน สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าโครงการต่าง ๆ ที่ ดีป้า ให้การส่งเสริมและสนับสนุนจนเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้กิจกรรมสื่อมวลชลสัญจร “depa Success Cases: ชีวิตดี๊ดี ด้วยดิจิทัล” ซึ่งหนึ่งในโครงการดังกล่าวคือ “โครงการพัฒนาระบบท่าเรืออัจฉริยะ” (Smart Port System Development Project) ณ ท่าเรือแหลมฉบัง โดยมีคณะผู้บริหารท่าเรือแหลมฉบังให้การต้อนรับ

นายพรชัย กล่าวว่า โครงการพัฒนาระบบท่าเรืออัจฉริยะเป็นความร่วมมือระหว่าง ดีป้า กับ การท่าเรือแห่งประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะให้ท่าเรือแหลมฉบังเป็นโครงการนำร่องในการพัฒนาระบบการบริหารจัดการท่าเรืออัจฉริยะด้วยดิจิทัลแห่งแรกของประเทศ พร้อมขยายผลรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

“โครงการพัฒนาระบบท่าเรืออัจฉริยะมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาการจราจรของการท่าเรือแหลมฉบังอย่างยั่งยืน โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของระบบขนส่งตู้สินค้าใหม่ให้กระจายตัวไปในแต่ละช่วงเวลาอย่างเหมาะสม ลดการสูญเสียทรัพยากร และเกิดประโยชน์แก่ชุมชน พร้อมกันนี้ ยังนำระบบการจองเวลาล่วงหน้าในการนำรถบรรทุกเข้ามารับ-ส่งสินค้าภายในเขตท่าเรือมาใช้ เพื่อยกระดับการให้บริการของท่าเรือแหลมฉบังให้มีมาตรฐานทัดเทียมกับท่าเรือชั้นนำในระดับสากล ซึ่งผู้ประกอบการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเข้าและส่งออกสินค้า อาทิ บริษัทขนส่งสินค้า และผู้ประกอบการบรรจุตู้สินค้าจะทราบเวลาในการขนถ่ายตู้สินค้า ทั้งนำเข้าและส่งออกของตนเอง” นายพรชัย กล่าว

นายพรชัย กล่าวต่อว่า การดำเนินการภายใต้ระบบท่าเรืออัจฉริยะจะต้องให้ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือเอกชนทุกท่าภายในท่าเรือแหลมฉบังเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดสรรเวลาและจำนวนคิวต่าง ๆ ให้เป็นไปอย่างราบรื่น โดยต้องเชื่อมโยงข้อมูลเข้าสู่ระบบส่วนกลางที่จะพัฒนาขึ้น ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง อาทิ

ศุลกากร ที่มีบทบาทในขั้นตอนการตรวจสอบ ณ บริเวณประตูตรวจสอบสินค้าด้านหน้า (Main Gate) จำเป็นที่จะต้องเชื่อมโยงเข้าสู่ระบบ เพื่อให้การทำงานร่วมกันในทุกฝ่ายเป็นไปด้วยความราบรื่นเช่นกัน

นอกจากนี้ ฐานข้อมูลที่ได้จากระบบเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ที่สำคัญที่จะต่อยอดสู่การพัฒนาระบบหลักในการบริหารจัดการการทำงานของท่าเรือแหลมฉบัง หรือระบบศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลของผู้ประกอบการท่าเรือแหลมฉบัง (LCP Port Community System) เพื่อยกระดับสู่การเป็นท่าเรืออัจฉริยะเทียบเท่ามาตรฐานสากล ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักที่สำคัญของความเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City)

นายพรชัย กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินโครงการพัฒนาระบบท่าเรืออัจฉริยะว่า ขณะนี้เริ่มทำการประชาสัมพันธ์โครงการกับผู้ประกอบการรถขนส่งสินค้า ควบคู่กับการพัฒนาต่อยอดระบบ Truck Queueing ระบบจองคิวรถบรรทุกเข้าท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อให้ทันสมัยและเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานได้อย่างสะดวก พร้อมกันนี้ ยังมีการพัฒนาระบบงาน Electronic Data Interchange (EDI) ช่องทางกลางเพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างระบบ เพื่อเป็นตัวกลางแลกเปลี่ยนข้อมูล โดยมีเป้าหมายการพัฒนาแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2563


ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับขอบเขตของโครงการพัฒนาระบบท่าเรืออัจฉริยะ

Smart Port EDI: ระบบเชื่อมต่อข้อมูลท่าเรืออัจฉริยะ เพื่อรองรับการเชื่อมโยงข้อมูล Big Data

Smart Truck: ระบบ Mobile Application สำหรับรถขนส่งที่ครบวงจรสำหรับการทำงานกับท่าเรือ

Smart Tasks (& Backhaul): ระบบจัดการวางแผนงานส่งออก-นำเข้าทางเรือ อ้างอิงตารางเรือ สำหรับผู้นำเข้า-ส่งออก

Smart Port Traffic: ระบบจัดการข้อมูลการจราจรท่าเรืออัจฉริยะ