ก.วัฒนธรรม นำร่องเลือก “ข้าวหลามหนองมน สับปะรดศรีราชา หมึกแดดเดียว เกาะสีชัง” เป็นอาหารทางวัฒนธรรมไทย

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม จับมือมหาวิทยาลัยกรุงเทพ และภาคีเครือข่าย ยกระดับอาหารทางวัฒนธรรมไทยให้คงความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น

วันที่ 17 มกราคม 25623 นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานเปิดงาน “อาหารทางวัฒนธรรม Thailand Cultural Food” ณ อำเภอบางแสน จังหวัดชลบุรี โดยการดำเนินงานในระยะแรกจะเป็นการยกระดับพื้นที่ในเขต 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา เพื่อเร่งดำเนินการพัฒนาเมืองและแหล่งท่องเที่ยว โดยนำร่องเลือกอาหารเข้าสู่ทำเนียบอาหารทางวัฒนธรรม 3 ชนิด ได้แก่ 1.ข้าวหลามหนองมน 2.สับปะรด ศรีราชา และ 3. หมึกแดดเดียว เกาะสีชัง โดยการเข้าร่วมโครงการดังกล่าวผู้ประกอบการอาหารต้องผ่านการประเมินเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งมีภาคีเครือข่ายสำคัญมาให้ความรู้ยกระดับผู้ประกอบการ คือ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และ บริษัทห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด

นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า การดำเนินงานวัฒนธรรมเป็นภาระหน้าที่ของประชาชนทุกคน รวมถึงองค์กรภาครัฐ องค์กรภาคเอกชน ทั้งนี้ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้กำหนดนโยบายในการดำเนินงานวัฒนธรรมไว้ว่า ต้องสนับสนุนการกระจายอำนาจและบทบาท ในการดำเนินงานวัฒนธรรม โดยเปิดโอกาสให้องค์กรชาวบ้านและบุคลากรในท้องถิ่น ได้มีส่วนร่วมอย่างสำคัญและเป็นเจ้าของในการดำเนินงานวัฒนธรรมในรูปเครือข่าย ทางวัฒนธรรม ซึ่งหน่วยงานของรัฐทำหน้าที่เพียงกระตุ้น ส่งเสริม สนับสนุน และประสานงานเท่านั้น จึงได้ส่งเสริมและสนับสนุนเครือข่ายภาคีในการดำเนินงานวัฒนธรรมในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะอาหารทางวัฒนธรรม ที่มีอัตลักษณ์เฉพาะถิ่น ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนภาคการท่องเที่ยว

พร้อมกันนี้ภายในงาน ยังมีการจัดแสดงนิทรรศการอาหารทางวัฒนธรรม ของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ(นำร่อง) จัดทำเกณฑ์ทดสอบอาหารทางวัฒนธรรม โดย บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งได้รับการตอบรับจากประชาชนที่เข้าร่วมชมนิทรรศการเป็นอย่างดี

สำหรับโครงการดังกล่าว เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจ ที่มีความพร้อมสมบูรณ์ ทั้งด้านโครงสร้างการลงทุนในอุตสาหกรรม การพัฒนาด้านโลจิสติกส์แบบครบวงจร และการท่องเที่ยว ซึ่งการเจริญเติบโตดังกล่าว รัฐบาลได้มองควบคู่ไปกับการผสมสานทางวัฒนธรรมของประเทศไทย โดยเฉพาะวัฒนธรรมด้านอาหาร ที่ต้องการให้เป็น Highlight Signature ควบคู่ไปกับการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจ

………………………………………………………..