ปส. เปิดตัว “รถห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่กรณีฉุกเฉินทางนิวเคลียร์-รังสี” คันแรกของไทย พร้อมปฏิบัติการ 24 ชั่วโมง

สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กระทรวงการอุดมศึกษาฯ (อว.) เปิดตัว “รถห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่กรณีฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี” คันใหม่ เข้าประจำการ ณ ปส. ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป มุ่งยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถการสนับสนุนการตอบโต้และประเมินสถานการณ์กรณีฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อความปลอดภัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อม ตลอด 24 ชั่วโมง

นางสาววิไลวรรณ ตันจ้อย เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ เปิดเผยว่า ภายในรถปฏิบัติการฯ ประกอบด้วย ห้องศูนย์บัญชาการ ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ตัวอย่างในพื้นที่เกิดเหตุ ห้องระบบสื่อสารที่ทันสมัยระหว่างพื้นที่เกิดเหตุกับศูนย์บัญชาการ ตลอดจนห้องเก็บอุปกรณ์และเครื่องมือทางรังสี ซึ่งมีเครื่องมือและอุปกรณ์ครบครัน อาทิ เครื่องวัดปริมาณรังสีเพื่อตอบโต้เหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี เครื่องค้นหาและระบุชนิดวัสดุกัมมันตรังสี เครื่องมือวัดกัมมันตภาพรังสีในสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยพร้อมปฏิบัติงาน ได้แก่ หุ่นยนต์ประเมินระดับรังสีและเก็บกู้วัสดุกัมมันตรังสี อากาศยานไร้คนขับประเมินผลกระทบทางรังสี และระบบชำระล้างการเปรอะเปื้อนวัสดุกัมมันตรังสี โดย ปส. มีความพร้อมและขีดความสามารถในการตอบสนองเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสีของประเทศด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ อันจะทำให้สถานการณ์กลับคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็วและเกิดความปลอดภัยอย่างสูงสุดต่อผู้ปฏิบัติงาน ประชาชน และสิ่งแวดล้อม ซึ่งการเตรียมการด้านอุปกรณ์และเครื่องมือดังกล่าวนี้ เป็นการดำเนินงานที่สอดรับกับแผนแม่บทในการเฝ้าระวัง เตรียมความพร้อม ระงับ และฟื้นฟูเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี พ.ศ. 2561 – 2565 เพื่อให้ประเทศไทยมีความพร้อมในการบริหารจัดการที่ทันท่วงทีในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี https://www.youtube.com/watch?v=xdmbw6Pous4

ทั้งนี้ หากเกิดเหตุฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี หรือประชาชนพบวัสดุต้องสงสัยที่คาดว่าจะมีวัสดุกัมมันตรังสีอยู่ภายใน หลักการเบื้องต้นให้สังเกตลักษณะภายนอกว่ามี “สัญลักษณ์รังสี” ที่มีลักษณะเป็นรูปใบพัดสามแฉกสีม่วงแดงหรือสีดำบนพื้นสีเหลือง หรือไม่ และห้ามแตะต้องวัสดุนั้น พร้อมแจ้งมายัง ปส. ที่โทรศัพท์สายด่วน 1296 ตลอด
24 ชั่วโมง

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มประสานงานกรณีฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี โทร 0 2596 7600 ต่อ 4309

………………………………………………………..