เดินหน้า‘เอไอ’ พระเอกอุตสาหกรรมไทย

ปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างที่เด่นชัดคือ “โซเฟีย” หุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ ที่เปิดตัวเมื่อ 3 ปีที่แล้วก็มีการเปลี่ยนแปลง ทั้งมีความฉลาดและคารมคมคายขึ้น ขณะที่ผิวหนังซิลิโคนก็ยกริมฝีปากยิ้มได้เป็นธรรมชาติมากขึ้น

ล่าสุดเดินทางมาประเทศไทยเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา รับหน้าที่พิธีกรในการสัมมนา Robotics & Automation Symposium 2018 “สร้างกลไกการผลิตด้วยเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติ-ภาคปฏิบัติประเทศไทย4.0” วัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีดิจิทัล เตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสู่ยุคประเทศไทย 4.0 รวมถึงการสร้างเครือข่ายสำหรับคนในแวดวงเดียวกันและอุตสาหกรรมอื่นเกี่ยวข้อง

 ญี่ปุ่นทำได้ ไทยก็ต้องทำได้

เวทีสัมมนานี้ภาคเอกชนผู้ใช่หุ่นยนต์ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์โดย ฉัตรแก้ว ฮาตระวัง กรรมการผู้จัดการบริษัท ไทยซัมมิท โอโตโมทีฟ จำกัด ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่ กล่าวว่า 40 กว่าปีที่อยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ เริ่มมองเห็นศักยภาพของหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเมื่อ 15-20 ปีก่อน โดยมีความต้องการที่จะพัฒนาขึ้นใช้เอง แต่ต้นทุนยังสูงเกินเอื้อมจึงจำเป็นต้องซื้อเทคโนโลยีต่างประเทศมาใช้

“เมื่อเราเริ่มคิดจะใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในไลน์การผลิต โดยมีความต้องการใช้ 500 ตัว ก็เดินไปหานักวิจัยเพราะมีความพร้อมด้านงบประมาณ แต่ปรากฏว่าต้นทุนสูงมากๆ อีกทั้งมีโอกาสพบโรงงานในสหรัฐที่ปิดและโละหุ่นยนต์กว่า 200 ตัวจึงตัดสินใจซื้อมาพร้อมทั้งมองหาผู้เชี่ยวชาญที่จะนำหุ่นยนต์เก่านั้นมาใช้ประโยชน์”

ในมุมของผู้ใช้ เกิดการตั้งคำถามว่า ลงทุนแล้วจะใช้ได้ไหม คุ้มค่าหรือไม่ เพราะงบลงทุนในส่วนนี้ 10-20 ล้านบาท แต่เมื่อมองเห็นโอกาสก็ตัดสินใจทุ่ม และนำบุคลากรในองค์กรที่สนใจมาช่วยกันเรียนรู้และพัฒนา กระทั่งสามารถพัฒนาทีมวิศวกรด้านหุ่นยนต์ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ได้เอง ด้วยแนวคิดที่ว่า ญี่ปุ่นทำได้ เราต้องทำได้ คนเหมือนๆ กัน

ปัจจุบัน ไทยซัมมิทโอโตโมทีฟ มีหุ่นยนต์ในองค์กรประมาณ 1,600 ตัวได้ และหุ่นยนต์ราคาถูกลงเหลือเพียง 30% จากแรกเริ่มเมื่อ 15 ปีก่อน

ด้าน รศ.ชิต เหล่าวัฒนา ผู้ก่อตั้งสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ย้ำว่า เทคโนโลยีหุ่นยนต์หรือระบบออโตเมชั่นมาใกล้ตัวมากขึ้น คนที่ทำธุรกิจต้องเช็คดูปัจจัยแวดล้อม ความจำเป็น และรีบนำมาปรับใช้ หากเทคโนโลยีหุ่นยนต์หรือระบบออโตเมชั่นทั่วไปจะรองรับการทำงานได้ตั้งแต่ตอนนี้ ส่วนปัญญาประดิษฐ์หรือเอไออัจฉริยะ อาจต้องใช้เวลาพัฒนา เพื่อให้เกิดและใช้งานได้ในอนาคต

ทิศทางการใช้และพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบออโตเมชั่น ล้อไปกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวในการปาฐกถาเรื่องแนวทางการขับเคลื่อนดิจิทัลไทยแลนด์ ในยุค 4.0 ว่า ดิจิทัลไทยแลนด์เป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ประเทศ เพื่อขับเคลื่อนไทยไปข้างหน้าด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างดิจิทัลที่ผ่านคณะรัฐมนตรีเมื่อ เม.ย.2558

โดยมีกฎหมาย และคณะทำงานนมารองรับหวังปฏิรูปทุกภาคส่วนของไทยให้ไปข้างหน้า หวัง 5 ปีทุกคนเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ลดช่องว่างของคนเมืองและคนชนบท ลดความเหลื่อมล้ำ

“ไทยแลนด์ 4.0 เป็นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับไทย ด้วยใช้นวัตกรรมที่เป็นทั้งของใหม่และการเพิ่มประสิทธิภาพให้สิ่งที่มีอยู่แล้ว ซึ่งเมื่อมองศักยภาพแล้ว เราเปลี่ยนผ่านได้ แต่ต้องดูว่าจะใช้วิธีการแบบไหน และจะเริ่มยังไงให้เร็วและแข็งแกร่ง”

บีโอไอสนับสนุนสูงสุด

ในส่วนกลไกการสนับสนุนจากภาครัฐพร้อมเต็มที่ ดุสิต ไตรศิริพานิช ผู้อำนวยการสำนักบริหารการลงทุน2 สำนักงานคณะกรรมการส่งเนริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า หากมีการเปลี่ยนใช้เครื่องจักร หุ่นยนต์ หรือระบบอัตโนมัติก็จะมีสิทธิประโยชน์ต่างๆ ตั้งแต่การนำเข้า ที่จะได้รับการยกเว้นภาษีตั้งแต่ต้นทางเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของอุตสาหกรรมนั้นๆ ให้ดีขึ้น จนกระทั่งมีกำไรก็ต้องเสียภาษีตามปกติ แต่หากมีการทำความดี เช่น ใช้หุ่นยนต์แทนคนงานที่ต้องทำงานในพื้นที่ไม่เหมาะสม เช่น ในที่อุณหภูมิความร้อนสูงก็ลดภาษีร้อยละ 50 เป็นเวลา 3 ปี

ส่วนขั้นที่ 2 เป็นการทำความดีให้ประเทศ โดยการสนับสนุนผู้ประกอบการหรือนักพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์หรือระบบอัตโนมัติของไทย เช่น ร่วมงานกับบริษัทไทยที่ทำเรื่องของ System Integrate (SI) เป็นจำนวน 30% ของระบบการทำงานทั้งหมด ก็จะลดภาษี ร้อยละ 100 เป็นเวลา 3 ปี

สำหรับผู้ที่ลงทุนใหม่และซื้อโรบอทมาใช้ก็จะเข้าข่ายเงื่อนไขเดียวกัน ในขณะเดียวกันฝั่งบริษัทไทยที่ทำด้าน SI สามารถยื่นขอลดหย่อนภาษีได้ 8 ปี เพราะเหมือนเป็นกลุ่มวิจัยและพัฒนาที่รับโจทย์จากผู้ใช้มาพัฒนา แต่หากเป็นการประกอบเท่านั้น ก็จะได้ลดหย่อนภาษี 5 ปี เพราะเป็นการสร้างซัพพลายเออร์ในไทย

ขอบคุณข้อมูลจาก กรุงเทพธุรกิจ