กรมการข้าวแนะแนวทางฟื้นฟูนาข้าวเชียงรายหลังรับผลกระทบจากการผันน้ำออกจากถ้ำหลวง

นายสุวัฒน์ เจียระคงมั่น รองอธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า ศูนย์ติดตามและแก้ไขภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สรุปผลกระทบด้านการเกษตรจากกรณีสูบน้ำระบายเพื่อช่วยเหลือทีมนักฟุตบอลในพื้นที่ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ 3 ตำบล คือ ต.โป่งผา ต.สีเมืองชุม และ ต.บ้านด้าย อ.แม่สาย เกษตรกรได้รับผลกระทบ จำนวน 109 ราย มีพื้นที่ข้าวได้รับผลกระทบทั้งสิ้นประมาณ 1,397.5 ไร่ กรมการข้าวจึงได้ประสานงานกับหน่วยงานในพื้นที่ของกรมการข้าวให้จัดทีมเจ้าหน้าที่ให้คำแนะนำเกษตรกรเกี่ยวกับเทคโนโลยีการปลูกข้าวที่เหมาะสมหลังน้ำลด และประสานงานกับสำนักงานเกษตรอำเภอเพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการสำรวจระดับความเสียหายของพื้นที่นาข้าวเพื่อเตรียมพร้อมสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวให้เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบนาข้าวเสียหายอย่างสิ้นเชิง

จากการสำรวจความเสียหายในเบื้องต้นนั้น พบผลกระทบ 2 กลุ่ม คือ

1) กลุ่มข้าวนาปี ซึ่งอยู่ในช่วงเริ่มฤดูการปลูก ชาวนาบางส่วนได้เพาะกล้าเตรียมจะนำมาปักดำในเดือนกรกฎาคมนี้ และเริ่มปักดำลงในนาข้าวแล้วมีอายุประมาณ 15-20 วัน ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ กข6 และข้าวขาวดอกมะลิ 105 ในการฟื้นฟูนาข้าวที่ได้รับผลกระทบนั้น ควรพิจารณาระดับความเสียหายของข้าวเพื่อประเมินว่าควรจะฟื้นฟูข้าวหรือทำการปลูกใหม่ โดยข้าว กข6 และขาวดอกมะลิ 105 ที่มีอายุมากกว่า 35 วัน จะทนน้ำท่วมได้ดีกว่าระยะกล้า ลักษณะน้ำที่ท่วมหากมีสีขุ่นจะสร้างความเสียหายแก่ข้าวมากกว่าน้ำใส ระดับน้ำที่ท่วมหากไม่มิดต้นข้าวเมื่อน้ำลดแล้วต้นข้าวจะฟื้นตัวได้ ดังนั้น ในกรณีที่ข้าวได้รับความเสียหายไม่มาก หลังน้ำลดประมาณ 7-10 วัน ข้าวจะสามารถแตกหน่อใหม่ได้ ควรใส่ปุ๋ยเคมี 3-6-6 หรือ 3-6-6 กก./ไร่ (N-P2O5-K2O) เพื่อช่วยให้ข้าวพัฒนาการเจริญเติบโตทางด้านต้นและใบได้เร็วขึ้นทันการเจริญเติบโตในระยะกำเนิดช่อดอก

ส่วนกรณีที่น้ำท่วมมิดยอดข้าวเกิน 7 วัน ต้นข้าวเสียหายเกือบ 100% หากต้องการปลูกข้าวนาปีพันธุ์เดิม แนะนำให้ทำการปลูกใหม่ให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 12 สิงหาคม เพื่อให้ข้าวมีช่วงระยะเวลาการเจริญเติบโตให้ผลผลิตเต็มที่ แต่หากไม่สามารถปลูกได้ทันช่วงเวลาดังกล่าว แนะให้เปลี่ยนเป็นพันธุ์ข้าวที่ไม่ไวต่อช่วงแสงให้เร็วที่สุด ได้แก่ กลุ่มข้าวเหนียว เช่น พันธุ์ กข10 (อายุการเก็บเกี่ยว 130 วัน) สันป่าตอง 1 (อายุการเก็บเกี่ยว 130 วัน) กลุ่มข้าวเจ้าที่มีอายุการเก็บเกี่ยวปานกลาง 100-110 วัน และทนทานต่ออากาศหนาวเย็น เช่น พันธุ์ กข61 (อายุการเก็บเกี่ยว 75-100 วัน) กข57 (อายุการเก็บเกี่ยว 105-110 วัน) ชัยนาท 1 (อายุการเก็บเกี่ยว 120-130 วัน)

2) กลุ่มข้าวนาปรัง อยู่ระหว่างการเก็บเกี่ยว เป็นข้าวปทุมธานี 1 หากมีคราบโคลนให้รอฝนตก 1-2 ครั้ง เพื่อชะล้างความสกปรก โดยเก็บเกี่ยวข้าวระยะพลับพลึง ประมาณ 28-30 วัน หรือ 4 สัปดาห์ หลังข้าวออกดอก 80% จะทำให้ได้ผลผลิตและคุณภาพข้าวดีที่สุด หากสามารถใช้รถเกี่ยวนวดได้ให้รีบนำไปลดความชื้นภายใน 24 ชั่วโมง กรณีที่ไม่สามารถใช้รถเกี่ยวนวดได้ ให้เก็บเกี่ยวข้าวด้วยเคียวแล้วมัดเป็นฟ่อนนำไปตากแขวนราวให้เกิดการระบายถ่ายเทของอากาศภายในฟ่อนข้าวได้ดีและสะเด็ดน้ำก่อนนำไปนวด ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้จะช่วยชะลอการเสื่อมและรักษาคุณภาพของข้าวนั่นเอง

*******************