สมุนไพรน่ารู้ อภัยภูเบศร : กะเพรา ยาธาตุจากครัว ช่วยขับลม

เมนูจานด่วนแบบไม่ต้องคิดของใครหลายคน คงเป็นผัดกะเพรา ใช่ไหมคะ แต่ใครจะรู้บ้างว่า กะเพราะที่เรากินกันประจำจะมีประโยชน์มากขนาดไหน

ในบ้านเรามีการใช้ใบกะเพราเป็นเครื่องเทศไม่ว่าจะ ต้ม ผัด แกง ทอด และกินเป็นผักแกล้ม แต่ที่ประเทศอินเดีย มีความเชื่อว่า ใบกะเพราเป็นร่างหนึ่งของเทพเจ้า จึงปลูกกะเพราไว้กราบไหว้บูชาและเก็บมาใช้เป็นยา  ในใบกะเพรามีโอสถสารมากมายอัดแน่นอยู่ จึงไม่น่าแปลกใจที่การศึกษาวิจัยในปัจจุบันพบสรรพคุณของกะเพรามากมาย เช่น คลายเครียด เพิ่มภูมิคุ้มกัน ต้านมะเร็ง ต้านหอบหืด ต้านเบาหวาน ต้านจุลชีพ ต้านการปวดเกร็ง ต้านอนุมูลอิสระ แก้ปวด เป็นต้น

กะเพราในเบ้านเรามีอยู่ 2 ชนิด คือ กะเพราแดงกับกะเพราขาว กะเพราแดงมีกลิ่นฉุนกว่าเพราะมีน้ำมันหอมระเหยมากกว่า นิยมใช้ทำยา แต่ไม่นิยมใช้ทำอาหาร   ในทางการแพทย์แผนไทย  กะเพรามีสรรพคุณเด่นในการดูแลท้องไส้ เพราะมีรสเผ็ด ฉุน ขม จึงช่วยย่อยอาหาร เป็นยาตั้งธาตุ แก้ปวดท้อง ท้องขึ้น แก้ลมตานซาง ขับผายลม กะเพรามีความเผ็ดที่พอดีๆ ไม่ร้อนเท่าพริก ไม่แผดอย่างกระเทียม จึงเป็นเครื่องเทศรสชาติดี ช่วยย่อยและขับลมได้ในคนทุกเพศทุกวัย จนมียาประสะกะเพราเป็นยาสามัญประจำบ้านที่คนสมัยก่อนคุ้นเคย รวมทั้งใช้เป็นยารักษาโรคเกี่ยวกับท้องอีกหลายขนาน  นอกจากนี้ ใบกะเพรามีฤทธิ์ไล่ยุง ขยี้ใบพอช้ำให้มีกลิ่น นำมาวางใกล้ๆ ตัว ยุงจะบินหนี หรือถ้าเล้าไก่มีไรมาก ให้ตัดต้นกะเพราใส่เล้าไก่ กลิ่นใบกะเพราจะไล่ตัวไรออกไป

สำหรับเด็กอ่อน หรือทารก ก็ได้ใช้ประโยชน์จากกะเพรา เนื่องระบบการย่อยอาหารหรือธาตุไฟของเด็กอ่อนยังไม่พัฒนาเต็มที่ จึงมีปัญหาเรื่องท้องบ่อยๆ เด็กจะบอกด้วยการร้องไห้โยเย เวลาเป็นมากๆ จะกำมือด้วย ถ้าคลำท้องและเอานิ้วเคาะจะมีเสียงผิดปกติ ท้องอืดในเด็กอ่อนควรใช้ใบกะเพราหรือใบแมงลักเป็นทางเลือกแรก เพราะเด็กทารกตับไตยังไม่แข็งแรงพอที่จะขับพิษของยาเคมีและสารกันบูดที่ใส่ในยาสำเร็จรูปได้ดีเท่ากับผู้ใหญ่

การใช้กะเพราแก้ท้องอืดในเด็กอ่อน เริ่มจากใช้ กะเพราสะตุ ป้ายลิ้น การสตุจะช่วยลดความเผ็ดร้อนของใบกะเพรา หรือใช้ ยาทากะเพรา ทาที่ท้อง ใช้ได้กับเด็กตั้งแต่แรกเกิดไปจนอายุ 1-2 ปี ถ้าไม่หายก็เปลี่ยนไปใช้ ยาต้มกะเพรา ซึ่งรสไม่ขื่นขม เด็กๆกินได้ เติมน้ำผึ้งลงไปจะยิ่งทำให้กินง่ายขึ้น แต่ในเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน จะไม่ใช้ยาต้ม นอกจากช่วยขับลมแล้ว กะเพรายังลดอาการปวดเกร็งได้อีกด้วย

ตัวอย่างตำรับยา

ยาแก้ท้องอืดในผู้ใหญ่

ใบและยอดกะเพรา 1 กำมือ (25 กรัม) หรือใบกะเพราแห้งประมาณหยิบมือ (4 กรัม) ต้มเอาน้ำดื่ม หรือใช้ใบแห้งชงเป็นชากินก็ได้

ยาทากะเพราแก้ท้องอืดในเด็ก

ใช้ใบกะเพรา 20-30 ใบ ขยี้ด้วยฝ่ามือทั้ง 2 ข้าง จนน้ำยากะเพราสีดำออกมา เอาฝ่ามือที่มีน้ำกระเพราติดอยู่ป้ายทาที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า หลัง และท้องเด็ก ยกเว้นสะดือ เมื่อยาแห้งทาซ้ำอีก 1-2 ครั้ง

ยากะเพราต้มแก้ท้องอืดในเด็ก

ใช้กะเพรา 7 ยอด ความยาวประมาณ 1 ฝ่ามือ ใส่น้ำพอท่วมยา 1-2 แก้ว ต้มให้เดือดนาน 5 นาที ให้กินครั้ง ½-1 ช้อนชา