แพทย์แนะจัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะกับการเรียนรู้ของเด็ก

สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ แนะพ่อแม่ผู้ปกครองเสริมสร้างการเรียนรู้ของเด็ก โดยเลือกกิจกรรมและจัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม สร้างแรงจูงใจเพื่อให้เด็กปรับตัวและอยากไปโรงเรียน

นายแพทย์ปานเนตร  ปางพุฒิพงศ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ผู้ปกครองควรสร้าง ทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับการไปโรงเรียนให้แก่เด็ก เพื่อทำให้เด็กอยากไปโรงเรียนมากขึ้น เช่น อ่านหนังสือ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการไปโรงเรียนให้ฟัง ฝึกให้รู้จักปรับตัวเข้ากับเพื่อนใหม่ หรือการเรียนรู้ผ่านการเล่น โดยจำลองสถานการณ์การไปโรงเรียน สร้างบรรยากาศภายในห้องเรียนให้เด็กได้มีโอกาสเตรียมตัว ให้พร้อม และรู้ตัวว่าตัวเองอาจต้องเจอสถานการณ์แบบไหน เจอกับใครบ้างเมื่อไปโรงเรียน ทำให้เด็กได้รับทั้งความรู้ และความสนุกสนาน ทั้งนี้ การพูดคุยอย่างเดียวไม่เพียงพอ จำเป็นต้องใช้เทคนิคเสริมทางบวก ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเรียนรู้ของเด็ก ทำให้รู้สึกสนุกและมีความสุข โดยเริ่มให้เด็กปรับตัวจากที่บ้านก่อน อาทิ จัดสิ่งแวดล้อมในบ้านให้เป็นระเบียบ ไม่ปล่อยของรุงรัง และกำหนดเวลาสำหรับกิจวัตรประจำวัน ให้ชัดเจน ไม่ปล่อยให้ดูโทรทัศน์ หรือเล่นเกมนานๆ ในส่วนนี้ผู้ปกครองต้องคอยชี้แนะ เพราะเด็กๆ มักจะไม่รู้ว่าเวลาไหนควรทำอะไร

นายแพทย์สมเกียรติ  ลลิตวงศา  ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวเพิ่มเติมว่า  สาเหตุหนึ่งที่เด็กไม่อยากไปโรงเรียนอาจเป็นเพราะรู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่าเพื่อน ทำอะไรเก่งไม่เท่าเพื่อนๆ เพราะพ่อแม่ดูแลอย่างดี ไม่เคยให้ทำอะไรด้วยตัวเอง เด็กจึงยิ่งขาดความมั่นใจ เข้ากับเพื่อนไม่ได้ จึงไม่อยาก   ไปโรงเรียน โดยปกติแล้วอาการโยเย ไม่อยากไปโรงเรียนของเด็กเล็กจะเป็นในช่วง 2-3 สัปดาห์แรกของการเปิดเรียน ควรรอให้เด็กปรับตัวให้เข้าสังคมใหม่ สิ่งแวดล้อมใหม่สักระยะแล้วจะดีขึ้นเอง ดังนั้น พ่อแม่จึงควรฝึกให้เด็กรู้จักช่วยเหลือตัวเอง เช่น อาบน้ำแต่งตัว กินข้าวเอง ช่วยคุณแม่ทำอาหาร หรือช่วยหยิบข้าวของต่างๆ และอย่าลืมที่จะชมเชยทุกครั้งที่ช่วยงาน หรือทำงานที่ได้รับมอบหมายสำเร็จ เพื่อสร้างความรู้สึกภูมิใจ  และเห็นคุณค่าในตัวเอง   ทำให้เด็กรู้สึกมั่นใจ กล้าแสดงออกมากขึ้น เข้ากับเพื่อนง่ายทำให้อยากไปโรงเรียนทุกวัน การที่เด็กสามารถ    มองเห็นความสำเร็จและสิ่งดีๆ ในตัวเอง เป็นปัจจัยสำคัญในการทำให้เด็กมีกำลังใจ ในการทำสิ่งดีงามต่อไป  แต่เมื่อเด็กทำผิด อาจมีการตักเตือนหรือทำโทษ หลีกเลี่ยงการพูดบ่นหรือตำหนิ ควรใช้วิธีพูดเตือนให้รู้ตัวหรือเบนความสนใจให้เด็กได้ทำกิจกรรมอื่นแทน หากต้องลงโทษ ควรทำด้วยวิธีที่ไม่รุนแรง  เช่น ตัดเวลาดูโทรทัศน์  เล่นเกม งดขนมที่ชอบ ทั้งนี้ พ่อแม่ควรเป็นตัวอย่างที่ดีและช่วยฝึกความมีวินัย อดทน รอคอย บริหารเวลา   จัดระเบียบในการทำกิจกรรมต่างๆ เพราะเด็กจะเรียนรู้จากสิ่งที่เห็น สิ่งที่ทำ มากกว่าสิ่งที่เราสอน