กสม. เร่งตรวจสอบเหตุยิงโจมตีป้อม ชรบ. ยะลา เพื่อสรุปข้อเท็จจริงและข้อเสนอแนะในการป้องกันและแก้ไขปัญหาต่อรัฐบาลภายใน 60 วัน

ตามที่ได้เกิดเหตุยิงโจมตีป้อมยามจุดตรวจชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) ประจำหมู่บ้านทุ่งสะเดา และชุดคุ้มครองตำบล (ชคต.) ลำพะยา หมู่ที่ 5 ตำบลลำพะยา อำเภอเมือง จังหวัดยะลา เป็นเหตุให้มี ชรบ. ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่เสียชีวิต เมื่อคืนวันที่ 5 พฤศจิกายน 2562 โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ได้ออกแถลงการณ์ประณามการก่อเหตุรุนแรงดังกล่าว ต่อมาเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2562 นายสมณ์ พรหมรส  กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ลงพื้นที่จังหวัดยะลาและจังหวัดปัตตานีเพื่อรับฟังข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งติดตามการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้บาดเจ็บและครอบครัวผู้เสียชีวิต และได้นำเสนอข้อเท็จจริงเบื้องต้นต่อที่ประชุม กสม. ตามลำดับ แล้วนั้น

กสม. เห็นว่า เหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลานาน กรณีการยิงโจมตีป้อม ชรบ. ครั้งนี้ ถือเป็นการกระทำที่อุกอาจของกลุ่มผู้ก่อเหตุที่จงใจละเมิดต่อชีวิตและร่างกายของประชาชนผู้อาสามาเป็น ชรบ. ทำหน้าที่รักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยในหมู่บ้าน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาและป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงลักษณะดังกล่าวต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตลอดจนเพื่อให้เกิดการเยียวยาผู้สูญเสียอย่างเหมาะสม เป็นธรรมและทั่วถึง ในการประชุม กสม. ด้านคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 26/2562 เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 กสม. จึงมีมติหยิบยกกรณีดังกล่าวให้เป็นเรื่องตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ภายหลัง กสม. มีมติ ดังกล่าว นายสมณ์ พรหมรส กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะผู้ได้รับมอบหมายให้ดูและตรวจสอบงานด้านสิทธิมนุษยชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เดินทางไปรับทราบข้อมูลและข้อคิดเห็นต่อกรณีเหตุการณ์ความรุนแรงดังกล่าวเพิ่มเติมจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4  ส่วนหน้า ณ ค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี รวมทั้งภาคสถาบันการศึกษาและส่วนราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ณ ศูนย์ศึกษาและประสานงานด้านสิทธิมนุษยชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  และมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ระหว่างวันที่
28 – 29 พฤศจิกายน 2562

ทั้งนี้ นายสมณ์ เปิดเผยว่า เหตุยิงโจมตีป้อม ชรบ. ยะลา ถือเป็นเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้กรณีแรกที่ กสม. หยิบยกขึ้นตรวจสอบโดยไม่จำเป็นต้องมีผู้ร้องเรียน ซึ่ง กสม. ได้จัดตั้งทีมผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเพื่อหาข้อเท็จจริงต่าง ๆ ได้แก่ สภาพปัญหา สาเหตุ แนวทางการป้องกันและแก้ไขเหตุรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นแก่ประชาชนและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งมาตรการเยียวยา โดยจะขอความร่วมมือจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยงานฝ่ายปกครองที่ทำหน้าที่ดูแลชาวบ้านกลุ่ม ชรบ. และองค์กรภาคประชาสังคม เป็นต้น เพื่อสรุปข้อเท็จจริงและจัดทำเป็นข้อเสนอแนะเสนอต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเร่งด่วนภายใน 60 วัน

สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ