ดัชนีราคาผู้บริโภคออนไลน์ (CPI Online)

นางสุรีย์พร สหวัฒน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (รอง ผอ.สนค.) เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีอัตราการเติบโตของธุรกิจ e – Commerce เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้รูปแบบการค้ามีช่องทางการจำหน่ายที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการค้าที่เกิดขึ้นผ่านช่องทางการสื่อสารออนไลน์ ซึ่งเป็นทางเลือกที่ผู้บริโภคสามารถเลือกใช้เพื่อทดแทนการบริโภคผ่านแหล่งจำหน่ายสินค้าและบริการในพื้นที่ได้ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคอย่างมีนัยสำคัญ และน่าจะส่งผลต่อระดับราคาและการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าและบริการ (เงินเฟ้อ) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ตระหนักถึงความสำคัญของบริบทการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จึงมีแนวทางปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดเก็บข้อมูลราคาให้สอดคล้องกับพฤติกรรมและรูปแบบการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปให้เหมาะสม โดยเพิ่มแหล่งจัดเก็บราคา จากเดิมที่จัดเก็บราคาโดยตรงจากแหล่งจำหน่ายในพื้นที่ เช่น Modern Trade ร้านค้าปลีก และตลาดสด เป็นการเก็บราคาจากแหล่งร้านค้าออนไลน์  เพื่อให้ดัชนีราคาผู้บริโภคสามารถสะท้อนพฤติกรรมการบริโภคของประชาชนมากยิ่งขึ้น ซึ่งได้ดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว

โดยในขณะนี้มีความคืบหน้าในการดำเนินการเป็นอย่างมาก  ทั้งในเรื่องการจัดทำโครงสร้างน้ำหนักและการจัดเก็บราคา ด้านการจัดทำโครงสร้างน้ำหนัก กองดัชนีเศรษฐกิจการค้าได้ดำเนินการสำรวจพฤติกรรมของผู้บริโภคในการใช้จ่ายสินค้าและบริการออนไลน์  ครอบคลุม 76 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร  ในเดือนกันยายน 2562 รวมทั้งได้ศึกษาพฤติกรรมการบริโภคออนไลน์ผ่านช่องทางอื่นๆ ของหน่วยงานต่างๆ เช่น  การสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (สำนักงานสถิติแห่งชาติ)  และการสำรวจมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ : ETDA)  สำหรับด้านการจัดเก็บข้อมูลราคานั้นได้ใช้วิธีการ Online Web Scraping มาช่วยในการทำงาน  ซึ่งส่งผลให้การทำงานมีประสิทธิภาพและรวดเร็วขึ้นเป็นอย่างมาก โดยในขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาลักษณะความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าออนไลน์และออฟไลน์ว่ามีลักษณะแตกต่างกันอย่างไรบ้าง

รอง ผอ. สนค. กล่าวในตอนท้ายว่า จากการดำเนินงานพัฒนาดัชนีราคาผู้บริโภคออนไลน์  จะส่งผลให้การติดตามสถานการณ์ด้านราคาของประเทศมีความถูกต้องและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยในระยะสั้น CPI-Online จะเป็นเครื่องชี้วัดทางเลือกเพื่อสนับสนุนให้การวิเคราะห์และอธิบายความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าและบริการเป็นไปอย่างรอบด้านและสอดคล้องกับพฤติกรรมในปัจจุบันมากที่สุด และในระยะต่อไป ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จะได้รับการปรับปรุงให้ครอบคลุมพฤติกรรมการบริโภคทั้งออฟไลน์ และออนไลน์ โดยใช้ CPI-Online เป็นแนวทางในการปรับปรุง ซึ่งจะทำให้ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) มีความสมบูรณ์และสอดคล้องกับพฤติกรรมการบริโภคของประชาชนมากยิ่งขึ้น

——————————————–

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า

กระทรวงพาณิชย์

ธันวาคม 2562