วว.จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นโครงการการผลิตก๊าซชีวภาพโดยใช้ชีวมวลประเภท Lignocellulosic จากกากมันสำปะหลังกระบวนการผลิตเอทานอล ข้าวฟ่างหวาน

ดร.อาภารัตน์ มหาขันธ์ รองผู้ว่าการกลุ่มวิจัยและพัฒนาด้านพัฒนาอย่างยั่งยืนสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) เป็นประธานการประชุมรับฟังความคิดเห็นโครงการ “การผลิตก๊าซชีวภาพโดยใช้ชีวมวลประเภท Lignocellulosicจากกากมันสำปะหลังจากกระบวนการผลิตเอทานอลและข้าวฟ่างหวาน”ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และบริษัทซัพพลายเอนเนอร์จี เมเนจเม้นท์ จำกัด โดยมีวัตถุประสงค์การประชุมเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลการวิจัยพร้อมทั้งรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐ นักวิชาการผู้ประกอบการ ผู้เกี่ยวข้องและผู้สนใจใช้ประโยชน์จากงานวิจัยนี้ จำนวน 50 คน รวมทั้งมีการจัดเสวนาเรื่อง“ทิศทางและความเป็นไปได้ในการผลิตก๊าซชีวภาพจากชีวมวลในภาคอุตสาหกรรม”

โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ได้แก่ นายผจญ ศรีบุญเรือง นายกสมาคมการค้าก๊าซชีวภาพ ดร.พรพรรณพาณิชย์นำสิน จากหน่วยปฏิบัติการวิจัยและพัฒนาวิศวกรรมชีวเคมีและโรงงานต้นแบบ นายพรอรัญ สุวรรณพลายอุปนายกสมาคมการค้าก๊าซชีวภาพ ผศ.ดร.พีรกานติ์ บรรเจิดกิจ ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ ดร.รุจิรา จิตรหวัง นักวิจัย วว. เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 ณโรงแรมรามาการ์เด้นส์ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ วว.มีพื้นฐานเทคโนโลยีด้านก๊าซชีวภาพและเป็นหน่วยงานของรัฐที่อยู่ในบัญชีรายชื่อบริษัทที่ปรึกษาด้านก๊าซชีวภาพของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงานซึ่งมีแผนดำเนินการวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพสำหรับของเสียทางการเกษตรและพืชพลังงานรวมถึงศึกษาวัตถุดิบชีวมวลชนิดใหม่ที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ และพัฒนาเทคโนโลยีในกลุ่ม Anaerobic Phased Solids(APS) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีต้นแบบการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากขยะและชีวมวล ดำเนินงานโดยศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม วว. ตั้งอยู่ที่สถานีวิจัยลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมาซึ่งปัจจุบันมีถังปฏิกิริยาแบบกึ่งเชิงพาณิชย์ขนาด 1,600 ลูกบาศก์เมตรที่สามารถใช้เชื้อเพลิงชีวภาพผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ไม่เกิน 300 kW ผลจากงานวิจัยดังกล่าว

นอกจากจะช่วยพัฒนาองค์ความรู้ในการผลิตก๊าซชีวภาพจากชีวมวลประเภท Lignocellulosic จากกากมันสำปะหลังจากกระบวนการผลิตเอทานอลและข้าวฟ่างหวานแล้ว ยังสามารถนำของเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมโรงงานผลิตเอทานอลมาผลิตเป็นพลังงานนอกจากนี้ยังจะช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนพื้นที่การฝังกลบสำหรับผู้ประกอบการที่รับกำจัดกากของเสียจากอุตสาหกรรมที่มีของแข็งปนเปื้อนสูง เช่น กากมันสำปะหลัง ขยะ น้ำเสียและตะกอนจุลินทรีย์ เป็นต้น

*******************************************************