นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยผลการศึกษาของ สนค. “การนำเข้าสินค้าเครื่องสำอางของจีนและโอกาสทางการค้าของไทย” พบว่า 9 เดือนแรกของปี 2562 จีนนำเข้าเครื่องสำอางมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก มีมูลค่า 12,220 ล้านดอลลาร์ สรอ. (สัดส่วน ร้อยละ 18.6 ของการนำเข้าสินค้าเครื่องสำอางของโลก) ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 30.6 โดยสินค้าที่อยู่ในขอบเขตการศึกษาประกอบด้วย 8 กลุ่มสินค้า ได้แก่ (1) ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สำหรับผม (3) ผลิตภัณฑ์ใช้ดับกลิ่นตัว (4) น้ำหอม (5) ของผสมของสารที่มีกลิ่นหอม (6) สบู่ (7) เอสเซนเชียลออยล์ และ (8) ผลิตภัณฑ์ใช้ในช่องปากหรือฟัน ทั้งนี้ แหล่งนำเข้าสินค้าเครื่องสำอางที่สำคัญของจีน คือญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส และสหรัฐฯ การนำเข้าจาก 4 ประเทศ มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 75 ของการนำเข้าเครื่องสำอางทั้งหมดของจีน สะท้อนว่าจีนมีการกระจุกตัวของแหล่งนำเข้าค่อนข้างสูง
เมื่อพิจารณาความนิยมการนำเข้าสินค้าเครื่องสำอางของจีน พบว่ามีการนำเข้าผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับใบหน้ามากที่สุด คิดเป็นมูลค่า 9,690.14 ล้านดอลลาร์ สรอ. มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 80 ของการนำเข้าเครื่องสำอางของจีน ขยายตัวร้อยละ 33.6 ซึ่งชาวจีนนิยมแบรนด์พรีเมี่ยมจากต่างประเทศ รองลงมา คือ ผลิตภัณฑ์สำหรับผม มีมูลค่าการนำเข้า 529.89 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 37.7 โดยนำเข้าจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้มากที่สุด ส่วนสินค้าอื่นๆ เช่น ผลิตภัณฑ์ใช้ดับกลิ่นตัว น้ำหอม สบู่ และผลิตภัณฑ์ใช้ในช่องปาก มีมูลค่าการนำเข้า 484.2 417.2 325.6 และ 217.2 ล้านดอลลาร์ สรอ. ตามลำดับมณฑลหลักที่จีนนำเข้าสินค้าเครื่องสำอางกระจุกตัวใน 3 มณฑล คือ เซี่ยงไฮ้ กวางตุ้ง และเจ้อเจียง คิดเป็นร้อยละ 72.1 ของการนำเข้าเครื่องสำอางทั้งหมด ดังนี้ เซี่ยงไฮ้ มีการนำเข้า 5,497.24 ล้านดอลลาร์ สรอ. (สัดส่วนนำเข้าร้อยละ 43.2 ขยายตัวร้อยละ 54.4)
ปัจจัยหลักมาจากรายได้สูงและมีประชากรวัยรุ่นและวัยทำงานมากถึง 18.2 ล้านคน รองลงมา คือ กวางตุ้งมีการนำเข้า 2,055 ล้านดอลลาร์ สรอ. (สัดส่วนนำเข้าร้อยละ 16.2 ขยายตัวร้อยละ 126.2) และ เจ้อเจียง นำเข้า1,608.4 ล้านดอลลาร์ สรอ. (สัดส่วนนำเข้าร้อยละ 12.7 ขยายตัวร้อยละ 113.3) ส่วนมณฑลอื่นๆยังมีการนำเข้าไม่มากนัก แต่เมื่อพิจารณาจากปัจจัยด้านรายได้และโครงสร้างจำนวนประชากรวัยทำงานมากคาดว่ามณฑลต่างๆ จะมีการนำเข้ามากขึ้นและเป็นโอกาสสำหรับการส่งออกเครื่องสำอางของไทยเพิ่มเติมนอกเหนือจากหัวเมืองหลักข้างต้น ได้แก่ เทียนจิน ซึ่งมีรายได้ต่อหัวสูงเป็นอันดับ 3 ของจีน และมีประชากรวัยรุ่นและทำงาน 12 ล้านคน เจียงซู มีรายได้ต่อหัวสูงเป็นอันดับ 4 ของจีน และมีวัยทำงานและวัยรุ่นมากถึง 57 ล้านคน และซานตง มีรายได้ต่อหัวสูงเป็นอันดับ 8 ของจีน และมีวัยทำงานและวัยรุ่นประมาณ 67 ล้านคน ตามลำดับ
ไทยเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าเครื่องสำอางอันดับ 14 ของจีน มีมูลค่าการนำเข้า 145.28 ล้านดอลลาร์ สรอ. มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 0.9 สินค้าเครื่องสำอางที่จีนนำเข้าจากไทยมากที่สุด คือ ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับใบหน้ามีมูลค่าการนำเข้า 85.97 ล้านดอลลาร์ สรอ. รองมา คือ ผลิตภัณฑ์อนามัยของช่องปากหรือฟัน และผลิตภัณฑ์สำหรับผม โดยมีมูลค่านำเข้า 32.18 ล้านดอลลาร์ สรอ. และ 10.29 ล้านดอลลาร์ สรอ. ตามลำดับ นอกจากนี้ การศึกษาพบว่าสินค้าเครื่องสำอางที่ไทยมีความสามารถในการแข่งขันในตลาดจีน
พิจารณาจากค่าความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ (RCA) ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อนามัยของช่องปากหรือฟัน (ไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 2 ของจีน มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 14.8 ขยายตัวร้อยละ 13.7) และสบู่ (ไทยเป็นแหล่งนำเข้าอันดับ 10 ของจีน มีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 2.4 ขยายตัวร้อยละ 111.0) ซึ่งจีนมีมูลค่าการนำเข้าสบู่จากไทย 7.8 ล้านดอลลาร์ สรอ.
นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวเพิ่มเติมว่า จีนเป็นตลาดเครื่องสำอางที่มีการเติบโตสูงมาก เป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะพัฒนาศักยภาพและขยายช่องทางการส่งออกสินค้าที่ไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงอยู่แล้ว เช่น ผลิตภัณฑ์อนามัยของช่องปากหรือฟัน และสบู่ ควรส่งเสริมให้มีส่งออกไปยังตลาดจีนให้มากยิ่งขึ้น ทั้งมณฑลหลักและมณฑลรอง สำหรับสินค้าที่ไทยส่งออกไปได้ดี แต่ขีดความสามารถในการแข่งขันยังไม่สูงนัก เช่น ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับใบหน้า และผลิตภัณฑ์สำหรับผม ผู้ประกอบการไทยควรพัฒนาสินค้าให้มีมาตรฐานและศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม เช่น พฤติกรรมผู้บริโภคสินค้าของประเทศคู่แข่งที่ได้รับความนิยมกว่า เพื่อเป็นประโยชน์ในการผลิตสินค้าให้สอดคล้องกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสินค้าให้เป็นที่ยอมรับ ตลอดจนใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ชของจีนเป็นช่องทางจัดจำหน่ายและกระจายสินค้าให้มากขึ้น
การส่งออกเครื่องสำอางของไทยขยายตัวในตลาดโลกได้ดีต่อเนื่อง มูลค่าการส่งออกเครื่องสำอางของไทยไปตลาดโลกในครึ่งแรกของปี 2562 นี้ มีมูลค่า 1,465.71 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 35.4 โดยกระจุกตัวใน 3 สินค้า มากถึงร้อยละ 70 ของการส่งออกเครื่องสำอางทั้งหมด ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับใบหน้า ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับผม และผลิตภัณฑ์อนามัยของช่องปากหรือฟัน ทั้งนี้ การส่งออกไปจีนขยายตัวสูงมาก โดยครึ่งปีแรก ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 450.4 และหากเปรียบเทียบกับประเทศอาเซียนแล้ว ในตลาดจีนไทยเป็นรองเพียงสิงคโปร์เท่านั้น
******************************************************